Whitney Houston :: Whitney Houston (1985)








"งานที่สมบูรณ์ ซึ่งแม้แต่ความงามของวีนัสยังต้องอาย"

ความรู้สึกประทับใจครั้งแรกของบุคคลแต่ละบุคคลต่อของสิ่งเดียวกันนั้นย่อมแตกต่างกันออกไป สิ่งเดียวกันที่ได้สัมผัสหรือประสบพบพักตร์คนบางคนเก็บเอาไว้ในความทรงจำมิรู้ลืม ในขณะเดียวกันที่อีกคนมองเห็นโอเคแล้วผ่านเลย ดนตรีก็คงมีแตกต่างกันมากมาย ไม่เช่นนั้นจะมีการนำเสนอดนตรีแต่ละรูปแบบแตกต่างกันหรือ และในแต่ละสาขาต่างก็มีแฟนเฉพาะกลุ่มที่ติดตามและสนใจและเมื่อแยกดนตรีเป็นสาขากันแล้วซอยย่อยลงไปอีก เจาะจงเฉพาะศิลปินคนใดคนหนึ่งลงไป ศิลปินแต่ละบุคคลต่างก็มีแฟนที่ติดตามผลงานของเขาในรูปแบบเฉพาะเจาะจงอีกเช่นเดียวกัน ในปัจจุบันเรามีศิลปินที่อยู่ในแวดวงดนตรีกันมากมาย ทั้งรุ่นเก่าๆที่ชื่อติดตลาดกันแล้ว รวมทั้งศิลปินหน้าใหม่ที่พยายามแหวกว่ายและบุกเบิกชื่อเสียงของตนเองให้เด่นดังขึ้นมา ดังนั้นวงการดนตรีจึงหยุดนิ่งไม่ได้ และในปัจจุบันนี้เรามีศิลปินหน้าใหม่อีกคนที่ผลงานของเธอช่างงดงามและหมดจดอะไรเช่นนี้ "วิทนีย์ ฮุสตัน" คือชื่อของสาวผิวหมึก (ซึ่งถ้าเทียบกับพวกผิวหมึกจริงๆแล้ว ผิวของเธอช่างใสและเป็นยองใยดีเหลือเกิน) คนนี้

ผมชั่งใจอยู่นานคิดจะขยับเขียนถึงผลงานชิ้นนี้ เพราะรู้ตั้งแต่ต้นแล้วว่า เมื่อไหร่ที่นิ้วตนเองสัมผัสแป้นพิมพ์ดีดเพื่อจะเขียนถึงผลงานของเธอออกมา นั่นก็คือการใส่ความลำเอียงหรือความรู้สึกส่วนตัวลงไปในข้อเขียนชิ้นนี้เป็นแน่ 100% แม้ว่าจะเขียนแล้วรีไรท์ก็ตาม ก็คงจะไม่สามารถลบล้างความลำเอียงที่มีอยู่ต่อผลงานของผู้หญิงคนนี้ออกไปได้ ดังนั้นเมื่อคุณอ่านข้อเขียนชิ้นนี้จบ คุณจะใช้เลขกี่ตัวหารข้อเขียนชิ้นนี้ออกไปก็ได้ หรือแม้แต่เมื่อคุณได้สัมผัสผลงานชิ้นนี้ของเธอแล้วคุณไม่คิดว่าผลงานชิ้นนี้มีจุดดีตรงไหน นั่นก็จงขอให้รับทราบเลยว่าผมลำเอียง แต่ถ้าคุณได้ฟังแล้วเห็นว่าดีตามข้อเขียนของผม ก็ไม่ใช่เพราะผมมีความสามารถในการเขียนหรอกครับ แต่เป็นเพราะผลงานที่ดีย่อมไม่มีใครสามารถลบล้างหรือมองผ่านและข้ามเลยออกไปได้ ผลงานชิ้นนี้ของวิทนีย์ ฮุสตันเป็นผลงานที่สวยงามจนไม่ต้องหาคำบรรยายที่จะมาทำลายคุณค่าความงามและความดีลงไปได้

วันแรกที่ผมได้รับแผ่นเสียงชุดนี้มา พอกลับบ้านมีเวลาที่จะฟังดนตรี ผมเช็ดทำความสะอาดแผ่นเสียงด้วยความเคยชินมากกว่าที่จะทำเพราะมีคราบฝุ่นจับอยู่ วางแผ่นลงไปบนเทิร์นเทเบิ้ล กดปุ่มวางเข็มแผ่นเสียงลงไปบนผลงานชิ้นนี้ ตัวเองหันกลับไปนั่งหยิบบุหรี่ขึ้นมาสูบ เสียงดนตรีเพลงแรกเริ่มขึ้น และต่อไปเรื่อยๆ ผมฟังด้วยความรู้สึกว่าเหมือนถูกมนต์สะกด ผมไม่เคยมีความรู้สึกเช่นนี้ต่อผลงานในยุคปัจจุบันนี้มากเท่าไหร่นัก อาจจะเป็นเพราะผลงานที่หยิบมาฟังนั้นมันกลายเป็นความเคยชินเสียมากกว่าว่าอย่างน้อยในวันหนึ่งต้องหาเวลาฟังเพลงอย่างน้อยวันละชั่วโมง แม้ว่าในปัจจุบันนี้จะไม่สามารถทำได้ก็ตาม เพราะไม่รู้ว่าเวลาที่ผ่านไปนั้นได้ฆ่าตัวผมเองลงไปทีละนิดๆ โดยบางวันเวลาที่ผ่านไปผมไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเลย แต่ก็ยังไม่สามารถหาเวลามานั่งฟังดนตรีกันได้ และเวลาส่วนมากที่จะฟังผลงานนั้น ส่วนมากหมดไปด้วยผลงานที่จะต้องนำมาเขียนเสียมากกว่าผลงานที่อยากจะฟังจริงๆ แต่สำหรับศิลปินผู้นี้ผมฟังด้วยความรักที่มีต่อดนตรีของเธอ ต่อผลงานของเธอ ดนตรีของเธอมันลื่นไหลไปเรื่อยๆ จับความรู้สึกทีละเล็กทีละน้อย ฟังแล้วฟังอีกด้วยความรู้สึกที่อยากจะฟัง ในขณะที่เขียนอยู่นี้ ถ้าผมกลับบ้านอัลบั้มแผ่นเสียงที่ผมคิดจะหยิบขึ้นมาทำความสะอาดและวางลงเบินเทิร์นเทเบิ้ลก็คือผลงานของเธอ

เวลาที่ผมอ่านหนังสือ เห็นพวกนักเขียนมือเซียนมืออาชีพเขาเขียนพรรณนาสิ่งที่เขาเห็นว่าสวยงามออกมา ด้วยถ้อยคำที่สละสลวยงดงาม ผมอยากจะให้เขาใช้ความสามารถที่เขามีมาช่วยผมในการเขียนเล่นสำนวนโวหารเพื่อที่จะทำให้ผู้อ่านคล้อยตามว่าผลงานของวิทนีย์ชุดนี้งดงามเช่นไร แต่เมื่อจะเขียนกำลังคิดพล็อต ผมกลับไม่มีความรู้สึกเช่นนั้นอยู่ในหัวใจเลย ผมกลับคิดว่าถ้าของสิ่งใดก็ตามเราสามารถที่จะบรรยายออกมาได้ทั้งหมด นั่นก็ย่อมหมายความว่าของสิ่งนั้นไม่สวยงามจริง ไม่ดีจริง สิ่งที่ดี สิ่งที่สวยงาม ไม่จำเป็นต้องมีคำบรรยาย เพราะเมื่อไหร่ที่เราบอกถึงความงดงามของสิ่งนั้นออกมาเมื่อไหร่ เท่ากับเราได้ทำลายความสวยงามที่แท้จริงลงไปด้วยความปรารถนาดีของตัวเราเอง เรื่องนี้ทำให้ผมคิดถึงภาพยนตร์เรื่องหนึ่งซึ่งจำชื่อไม่ได้แล้ว แต่ถ้าจำดาราไม่ผิด รู้สึกจะเป็น โรเบิร์ต มิตชั่ม เล่นคู่กับ แนนซี่ กวาน (อาจจะไม่ใช่นะครับ) ในขณะที่ตัวละครกำลังพรากจากกัน โรเบิร์ต มิตชั่ม บอกอำลาแก่สาวน้อยกวาน (ในตอนนั้น) ว่า "จะมีคำพูดใดที่เศร้ากว่าและมีความหมายดีกว่าคำว่า "ลาก่อน" ไหม" ผมก็ไม่ทราบว่าคุณฟังแล้วรู้สึกเช่นไร แต่ผมมีความรู้สึกว่าจริงของเขา ถ้อยคำสั้นๆธรรมดาสามัญนี่ล่ะครับ คือถ้อยคำที่กินใจและฝังอยู่ในความรู้สึกตลอดเวลา แต่ดนตรีของวิทนีย์ไม่ใช่ถ้อยคำว่า "ลาก่อน" แต่ก็ไม่รู้จะใช้ถ้อยคำอะไรที่จะใส่ลงไปให้เพลินๆแต่งดงามเช่นนั้นได้

จากข้อความในพารากราฟแรก งานชิ้นนี้ของวิทนีย์อาจจะเป็นเฟิร์ส อิมเพรสชั่นของผมเพียงผู้เดียวก็ได้ อาจจะเหมือนกับความงามของผู้หญิงที่บุคคลแต่ละบุคคลมองผ่านแล้วรู้สึกไม่เหมือนกัน บางคนอาจจะสวย ทุกคนที่เห็นต่างก็ลงความเห็นว่าสวย ในขณะที่คนที่เห็นว่าสวยคนหนึ่งเห็นแล้วก็ผ่านเลย แต่อีกคนเห็นแล้วเก็บเอาไว้ตรึงตราใจ เช่นเดียวกัน ดนตรีชิ้นนี้ก็เช่นกัน คนฟังต่างคนก็ต่างความรู้สึก เพียงแต่ผมอาจจะมีหน้าที่ต้องเขียนเพราะเป็นหน้าที่การงาน ก็เลยหยิบผลงานที่ตนเองชอบมาเขียน (อันความจริงชุดนี้ไม่เขียนก็ไม่ได้หรอกครับ เพราะเป็นผลงานที่ตัวแทนจัดส่งมาให้ ถึงแม้ว่าผมจะเป็นผู้เลือกผลงานเองก็ตามสำหรับที่เซ็นทรัล แต่ก็ขอรับรองได้อย่างว่า ในตอนที่เลือกผมไม่เคยฟังผลงานของวิทนีย์เต็มชุดมาก่อน เคยผ่านหูทางวิทยุและก็เคยดูทางวิดีโอคลิป เพลงเดียวเท่านั้น ซึ่งลักษณะเช่นนั้นไม่ใช่ลักษณะที่จะนำมาตัดสินผลงานสำหรับผม) นี่อาจจะเป็นเพราะเพียงแต่ผมมีโอกาสดีกว่าเท่านั้น แต่เมื่อได้ฟังผลงานที่ดีไม่เขียนถึงก็ไม่รักกันจริงสิครับ แม้ว่าจะรู้ๆกันอยู่แล้วว่าคนที่อ่านคอลัมน์ต่างก็ฟังดนตรีกันเก่งๆทุกคน และส่วนมากก็คงฟังกันมาก่อนผมทั้งสิ้น แต่ก็ขอให้คิดว่าข้อเขียนชิ้นนี้เป็นเพียงแต่คอมเมนต์ของผมก็แล้วกัน นี่ถ้าผลงานชิ้นนี้เป็นดนตรีเฮฟวี่หรือโพรเกรสซีฟอาจจะไม่เขียนก็ได้ (แต่ในครั้งหน้ามีอัลบั้มเฮฟวี่มาเขียนชัวร์ 100%)

จะเห็นได้ว่าครั้งนี้เซียนไม่พูดถึงเพลงเลยสักเพลงเดียว อันที่จริงตามปกติก็ไม่พูดอยู่แล้ว แต่สำหรับชุดนี้มีเหตุผลเพราะนับแต่ร่องแรกของหน้าแรกจนถึงร่องสุดท้ายของหน้าสอง ดนตรีที่คุณจะได้ฟังคือดนตรีที่ยอดเยี่ยมอยู่แล้ว ไม่ต้องไปสนใจว่าซิงเกิ้ลไหนดังเลยครับ ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นว่าคุณยึดติดกับการฟังดนตรีตามอันดับกันมากกว่าจะฟังดนตรีที่มาจากความรู้สึก อันดับรู้เอาไว้เอาเป็นไอเดีย แต่ดนตรีต้องมาจากจิตใจ มาจากรสนิยมไม่ใช่มาจากเพราะมันดังมันถึงดี มันถึงเพราะ แล้วไม่ต้องห่วงนะครับว่าคุณฟังแล้วจะไม่ชอบ มันมีโอกาสเป็นไปได้เสมอ เพราะรสนิยมห้ามกันได้อย่างไร ที่ครั้งนี้ต้องบอกอย่างนี้ก็อย่างที่บอกว่าข้อเขียนขิ้นนี้ค่อนข้างมีความลำเอียงยกหลายกำลัง ดนตรีดีๆอย่างนี้ไม่รักก็เต็มกลืนแล้ว

อีกจุดหนึ่งที่ทำให้ผมรักวิทนีย์ในการทำงานของเธอก็คือถ้อยคำหลังปกอัลบั้ม ที่เธอกล่าวขอบคุณทุกคนที่ช่วยเหลือทั้งทางตรงและทางออ้อม ซึ่งไม่ได้เห็นอัลบั้มที่เขียนถ้อยคำเช่นนี้มานานแล้ว ความเป็นคนมีความอ่อนน้อยในสิ่งที่ดีงามเป็นเรื่องที่อาจจะเล็กน้อย แต่นี่ย่อมเป็นเหตุผลได้ว่า โลกนี้ยังไม่เลวร้ายเกินไปนักสำหรับยุควัตถุเป็นตัวกำหนดจิตใจ

ใครก็ตามที่มีความรัก อยู่ในห้วงแห่งรัก อกหัก เอาผลงานชิ้นนี้ช่วยชโลมจิตใจกันสิครับ ซึ่งก็เหมือนนักพนันที่ย่อมมีความรู้สึกทางด้านจิตใจที่ดีขึ้น เมื่อรู้ว่ามีบุคคลอื่นเล่นเสียมากกว่าตน (นี่เปรียบเทียบแบบหน้ามือพลิกเป็นส่วนต่ำของอวัยวะกันมั่งครับ อ่านเล่นๆเพลินๆก็แล้วกัน) เรื่องความรักที่วิทนีย์ร้องออกมาอาจจะดูเป็นน้ำเน่าสักหน่อย แต่ถ้าโลกนี้ปราศจากความรักแล้ว เราจะมีน้ำบริสุทธิ์กันทำไมกัน โอ้ นี่ผมรักผลงานชิ้นนี้จนไม่ลืมหูลืมตาแล้วหรือนี่

SP 208

Dire Straits :: Brothers In Arms (1985)


1 ใน 10 ของ Best of the year

เป็นครั้งแรกที่นำผลงานในช่วง Best Of The Month มาลงในช่วงเดินตามร่อง เหตุผลง่ายๆก็คือตัวแทนจัดจำหน่ายส่งมาให้

ก่อนที่จะเขียนถึงผลงานชุดนี้ของคณะไดร์สเตรทส์ได้นำผลงานที่เกี่ยวข้องกับคณะนี้มาฟังเท่าที่จะหาได้ มีผลงานของทางคณะโดยตรงทุกชุด ยกเว้นชุดสามเพราะไม่มี ผลงานเดี่ยวของมาร์คชุด Local Hero และ Cal สำหรับเรื่อง Comfort and Joy ไม่ทราบเหมือนกันว่ามีการทำเป็นอัลบั้มหรือไม่ เพราะค้นรายละเอียดแล้วไม่เจอ ผลงานของเดวิดผู้น้อง รวมทั้งผลงานของจอห์น ไออิสลีย์ (John Illsley) อ่านถูกหรือไม่ก็ไม่ทราบนะครับ สงสัยจะเป็นคนไอริช ชื่อแปลกดีจัง ทำให้อ่านยากไปด้วย เมื่อฟังจบแล้วผมมีความสงสัยในข้อเขียนของคนเมืองนอกเกิดขึ้นว่า ความคิดที่ออกมาว่า "ผลงานชุด Love Over Gold เป็นผลงานที่ไม่มีคุณค่า เมื่อถูกผลิตออกมาในนามคณะที่ชื่อไดร์สเตรทส์ เพราะนี่ควรเป็นผลงานเดี่ยวของมาร์ค นอฟเลอร์"

ครั้งหนึ่งถ้ายังจำกันได้ถึงข้อเขียนของผมจากชุด Love Over Gold ผมเคยบอกเอาไว้ว่า สิ่งที่ทางเมืองนอกพูดนั้นมีส่วนเป็นความจริง แต่ผมคำนึงถึงผลงานที่ออกมาแล้วเห็นว่าเป็นผลงานที่ดีจริงๆ แต่สำหรับในปัจุบัน ผมก็ยังคิดว่าสิ่งที่ทางเมืองนอกพูดนั้นเป็นความจริง แต่ผมตะขิดตะขวงใจนิดว่า ลักษณะการเขียนออกมาเช่นนี้เป็นลักษณะอัดศิลปินดังหรือศิลปินที่ดังนั้นถ้าได้อัดได้เหยียบนั้นมันพิลึกเลยเสียมากกว่ามั้งครับ เพราะถ้าจะมีความคิดเห็นเช่นนี้ควรจะมีมานานแล้ว ไม่ใช่มามีเมื่อผลงานชุด Love Over Gold ถูกผลิตขึ้นมา เพราะแนวดนตรีของไดร์สเตรทส์นั้นถ้ามองดูกันอย่างจริงจังแล้ว จากชุดแรกจนถึงชุดปัจจุบันทางคณะมีการวางโครงสร้างของดนตรีเอาไว้อย่างมีรากฐานและลักษณะการทำงานที่มีจุดมุ่งหมายปลายทางที่แน่นอน ผลงานของเขาเมื่อฟังอย่างละเอียดกันตั้งแต่ชุดแรกจนถึงปัจจุบันจะเห็นถึงการพัฒนาโครงสร้างการเจริญเติบโตของฝีมือและคุณลักษณะของสมาชิกแต่ละบุคคลได้เด่นชัด เป็นข้อพิสูจน์ได้ว่าประสบการณ์และการเรียนรู้เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมและสร้างสรรค์ถึงคุณลักษณะงานและความรู้กันได้ ดังนั้นงานของคณะนี้ในอดีต ถ้าเอามานั่งฟังกันใหม่ในปัจจุบัน จะรู้สึกได้ทันทีว่า สู้ผลงานยุคปัจจุบันไม่ได้ สำหรับวงการดนตรีนั้นเป็นเรื่องที่น่าแปลก และนานๆเกิดขึ้นเหมือนกันนะครับ เพราะมีคณะดนตรีหลายคณะแล้วเมื่อสร้างผลงานชั้นมาสเตอร์พีซขึ้นมาแล้ว ผลงานต่อๆมานั้นทำสู้ผลงานในยุคเก่าไม่ได้ และส่วนมากจะเป็นเช่นนี้เสียด้วยสิครับ ไดร์ สเตร์ทส์เป็นตัวอย่างของกฏที่ควรเป็นไป แต่ไม่ค่อยมีและไม่ค่อยเกิดให้เห็นด้วยสิครับ

ดังนั้นผมจึงมีความรู้สึกถึงเรื่องข้อเขียนของพวกเมืองนอก (บอกให้ก็ได้ว่า ถ้าจำไม่ผิดคือนิตยสาร Rolling Stone ครับ) ว่าเป็นการอัดศิลปินดังโดยพยายามหาเหตุผลกันมากกว่า แต่จุดที่เขายกขึ้นมานั้นมิใช่โคมลอยเสียทีเดียว มีเหตุมีผลฟังดู (อ่านดู) แล้วเข้าท่าจริงๆ แต่ในปัจจุบันผมไม่ค่อยเห็นด้วยเท่าไหร่นัก แต่ผมว่าอย่างไรพวกเมืองนอกนี่ดีอย่างนะครับ ถ้าเป็นคอลัมน์ประเภทแสดงความคิดเห็นแล้ว ถ้าไม่ชมก็อัดกันเลย โดยเฉพาะถ้าอัดนี่ เขาช่างสรรหาคำพูดที่เจ็บๆมาว่ากันถึงใจจริงๆ ลองดูตอนที่อัดสตีวี่ วอนเดอร์ จากซาวด์แทร็คเรื่อง The Woman In Red ดังนั้นสำหรับผลงานของไดร์ สเตรทส์แล้วผมคิดว่านี่เป็นอีกผลงานที่ทางคณะสร้างออกมาได้สมบูรณ์แบบมาก การทำงานที่ถูกสร้างขึ้นมานั้นมีการพยายามหนีและสร้างเสริมบารมีประกอบทั้งรูปแบบของโครงสร้างดนตรีของตนออกไปได้อย่างเฉียบขาด ในขณะที่ผลงานในอดีตนั้น โครงสร้างในอัลบ้มแต่ละชุดนั้นถูกแปลนและสร้างขึ้นมาโดยมีรูปแบบที่แน่นอนเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันโดยตลอด ไม่ต้องดูอื่นไกลหรอกครับ ผลงานในชุด Love Over Gold ที่คิดว่านักฟังดนตรีทั้งหลายก็คงรู้จักกันดีอยู่แล้ว สำหรับแฟนดนตรีที่ไม่รู้จัก ผลงานชุดนี้เป็นหนึ่งในผลงานที่น่าสะสมมากนะครับ เป็นรูปแบบของการสร้างงานแบบที่บอกได้ดีที่สุด ดนตรีทุกเพลงประสมประสานและแสดงถึงแนวโน้มที่เป็นชิ้นเดียวกันขึ้นมา แนวดนตรี (มีบางเสียงกล่าวกันว่างานชิ้นนี้มีส่วนประสมของดนตรีโพรเกรสซีฟด้วย มีลักษณะเป็นจริงไม่น้อยทีเดียว เพราะดนตรีนั้นผมเคยบอกกล่าวไว้แล้วว่า ดนตรีชิ้นหนึ่งนั้นมีคุณลักษณะการมองได้หลายรูปแบบ ส่วนผมแล้ว ผมไม่เคยมองดนตรีของคณะนี้ไปไกลขนาดนี้เลยครับ ทั้งๆที่ผมชอบแนวดนตรีเช่นนี้มากนะครับ แต่ลักษณะความคิดเช่นนี้เป็นความคิดที่ผมยอมรับนะครับ) ของ Love Over Gold มีลักษณะที่เราต้องยอมรับกันอย่างง่า เป็นผลงานของอัลบั้มที่เมื่อฟังติดต่อกันทั้งชุดแล้วไม่สะดุดหรือติดในอารมณ์เลย

ส่วนผลงานของ Brothers In Arms นั้นเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง ทางคณะเล่นดนตรีหลายรูปแบบหลายลักษณะหลายโครงสร้าง เพียงแต่พยายามคงเอาไว้ซึ่งแนวดนตรีส่วนตนเอาไว้ ดนตรีที่เล่นมีหลายลักษณะลีลา มีทั้งดนตรีคันทรี่ (น่าสงสัยว่าทางคณะนี้คงชื่นอชอบดนตรีแนวนี้ไม่น้อยทีเดียว เพราะจากผลงานชุดแรกแล้วที่พยายามสอดใส่โครงสร้างดนตรีเช่นนี้เอาไว้), บัลลาด, ร็อค (เนื่องจากความหมายของคำนี้กว้างมาก ผมไม่สามารถบอกออกมาได้ว่าร็อคของไดร์ สเตรทส์นั้นแตกต่างจากคณะอื่นยังไง สำหรับผลงานชุดนี้นั้นทางคณะพยายามที่จะแหวกงงล้อมของตนเองออกมาจากความเป็นร็อคที่ตนถนัดบ้าง ต้องลองหามาฟังดูครับถึงจะเข้าใจในสิ่งที่พูด แต่ขอให้เข้าใจอย่างนะครับ คำว่าร็อคนั้น ไม่หนวกหูเสมอไป ถ้าคุณไม่เร่งโวลุ่มจนแม้กระทั่งคุณก็ทนไม่ได้เอง) จนต้องยอมรับว่าพวกเขาเก่งที่หาทางให้กับตนเองได้

ดังนั้นจึงเป็นการยากที่จะบอกได้ว่าชุดไหนดีกว่ากัน ระหว่าง Love Over Gold และ Brothers In Arms (ที่ต้องบอกเช่นนี้เพราะผมได้รับคำถามเช่นนี้มากเหลือเกิน ที่จำได้ก็คือจดหมาย 3 ฉบับ โทรศัพท์ 4 ราย ดังนั้นจึงขออาศัยช่วงเดินตามร่องตอบเสียเลย) ใครจะดีกว่ากัน อันนี้ต้องขึ้นอยู่ที่ว่าคุณชอบลักษณะการทำงานในแบบใดเสียแล้วครับ

สำหรับเรื่องดนตรีนั้น ผมอยากให้คุณดูการทำดนตรีของทางคณะนี้นิดว่า มีหลายเพลงเหลือเกินที่เป็นการทำงานในลักษณะงานจิ๊กซอ (Jigsaw) เช่นเพลง Money For Nothing และ One World เป็นลักษณะมีโครงสร้างของดนตรีในอดีต 2-3 เพลงที่ถูกนำมาดัดแปลงและปรับปรุง จนมาถึงเปลี่ยนแปลงให้มีลักษณะของคำว่าคล้าย แต่ไม่ใช่ลอก ไม่ใช่ขโมยหรือหยิบยืมมา ถ้าจะทำก็ต้องทำอย่างนี้สิครับ คือให้มองดูแล้วเหมือนคนที่มีสมองเขาทำกัน อย่างที่ผมเคยบอก เมืองนอกเขาก็มีการทำเช่นนี้ แต่เขาทำอย่างคนที่มีสมองครับ ที่บอกเช่นนี้ไม่ใช่แก้ต่างแทนศิลปินเมืองนอก เพียงแต่ว่าถ้าเขาทำดีเราก็ต้องว่าเขาดี ไม่ใช่หาข้อจับผิดหรือเฟ้นหาข้อชมโดยลืมความจริงของการกระทำทั้งสอง และลองดูเพลง The Man's Too Strong ลูกเล่นเพลงนี้ถ้าใครมีชุด Love Over Gold คงจำได้ว่าอยู่ในเพลงไหนนะครับ (อันนี้ต้องยกตัวอย่างหนังเรื่อง Superman ว่าถึงฉากเหาะ ในแต่ละภาพเขาทำได้เนี้ยบมากขึ้นขนาดไหน ลูกเล่นของไดร์ สเตรทส์ก็เหมือนกัน คือฟังดูแล้วดีขึ้นทุกครั้ง นี่คือจุดที่ผมพูดถึง) และเพลง Brothers In Arms ไตเติ้ลแทร็คที่วางเอาไว้เป็นเพลงสุดท้ายนั้น มีลักษณะเหมือนงานยุคแรกของคณะมาก เพียงแต่ลดบทบาทของเครื่องดนตรีชิ้นอื่นลงเท่านั้น และเพิ่มบทบาทของกีต้าร์ให้มากขึ้น ฉลาดจริงๆในการทำงานของดนตรีในแต่ละเพลง

แล้วที่ผมนำชุดนี้ลงในช่วง Best Of The Month นั้นมีค่าคู่ควรไหมครับ และการที่จั่วหัวว่านี่เป็นหนึ่งในสิบของ Best Of The Year ก็คงไม่เกินเลยใช่ไหมครับ เพราะอย่างน้อยก็เป็น 1 ใน 10 ของ Best Of The Year ในความคิดของผมล่ะครับ

SP 207

George Benson : 20/20 (1985)


คิดว่านักฟังดนตรีทั้งหลายที่ฟังดนตรีกันมา อย่างน้อยก็คงได้ยินชื่อศิลปินที่ชื่อ "จอร์จ เบนสัน" กันมาบ้างไม่มากก็น้อย แล้วแต่ความสนใจของผู้ฟังดนตรีแต่ละบุคคล บางคนอาจจะรู้จักชื่อเสียงจอร์จมานานตั้งแต่สมัยที่เขายังเล่นกีต้าร์แจ๊สอยู่ บางคนที่ไม่สนใจแนวดนตรีนักก็อาจจะเคยได้ยินชื่อหรือผลงานของเขามาจากเสียงกีต้าร์ที่แสนหวานจากผลงานดนตรีของเขา นักฟังบางท่านที่ชอบฟังดนตรีแนวหวานๆนุ่มนวลในแนวและเสียงร้องของศิลปินรับเชิญบางคนที่มีโอกาสร่วมงานกับจอร์จมาก่อน ก็คงจะคุ้นเคยกับดนตรีในยุคหลังของจอร์จมาบ้าง แม้ว่าจะไม่ได้สนใจว่าผลงานชิ้นนั้นใครคือเจ้าของดนตรี แต่ไม่ว่าคุณจะรู้จักศิลปินที่ชื่อว่า"จอร์จ เบนสัน" ในฐานะใด จะรู้จักชื่อเสียง รู้จักผลงาน ชอบในเสียงกีต้าร์ หรือความไพเราะของดนตรีที่คุณผ่านมา สิ่งหนึ่งที่ปฎิเสธไม่ได้โดยเด็ดขาดก็คือ จอร์จ เบนสันเป็นศิลปินที่มีความสามารถ และผลงานที่ผ่านมาเขารู้ว่าเขากำลังทำอะไร

ผลงานในชุด 20/20 ชุดนี้ ไม่แน่ใจว่าแฟนดนตรีที่ชื่นชอบจอร์จในฐานะมือกีต้าร์ดนตรีแจ๊สจะมีความรู้สึกอย่างไร ถึงแม้ว่าจะตัดความสวยสดของดนตรีออกไปก่อน เพียงแต่จะมานั่งทำใจกันว่า ดนตรีที่จอร์จกำลังเสนอในชุดนี้ไม่ใช่แจ๊สแล้วก็เป็นการยากแล้ว ถ้าดนตรีชุดนี้เป็นแจ๊สก็เป็นแจ๊สในแบบที่ควรจะเรียกว่า แนวเด่นในฐานะแจ๊สที่แท้จริงเป็นรองรูปแบบของดนตรีที่จอร์จเสนอออกมา หรือดนตรีในยุคนี้ที่เขาประทับตราผลงานของศิลปินเพียงแค่ชื่อเสียงหรือผลงานที่ผ่านมาในอดีตเท่านั้น ศิลปินที่เล่นดนตรีแจ๊สถ้าออกไปเล่นดนตรีแนวอื่นคนฟังก็ยังยอมรับอยู่เองว่าเขายังมีความเป็นแจ๊สอยู่นั่นเอง ทั้งๆที่เขาอาจจะต้องการแสวงหาความไม่มีที่สิ้นสุดในฐานะศิลปินที่ตัวเขาคิดว่าเขาสามารถจะทำได้ และสำหรับศิลปินที่ชื่อว่า จอร์จ เบนสันนั้น ไม่ใช่แค่เขามีความเชื่อมั่นว่าเขาทำได้เท่านั้น แต่เขายังทำได้ดีอีกด้วย จากดีจนถึงดีที่สุด นี่คือผลงานที่จะพิสูจน์สิ่งที่ข้อเขียนของผมจะได้บ่งบอกออกไป

อัลบั้ม (เทป) ม้วนนี้มีดารารับเชิญมากมายเต็มไปหมด คิดว่าจอร์จรับผู้ร่วมงานแต่ละบุคคลที่จะมาช่วยงานในแต่ละเพลงนั้นเป็นการกระทำอย่างรอบคอบและพิถีพิถันมากแล้ว ตามฟอร์มศิลปินที่ดีทั้งหลายจะได้กระทำเมื่อมีโอกาสที่จะกระทำ ลักษณะดนตรีของจอร์จในการเลือกศิลปินแต่ละคน มาร่วมงานในแต่ละเพลงนั้นฟังดูแล้วมีความรู้สึกซึ่งแตกต่างไปจากศิลปินแถบเวสต์โคสต์ ซึ่งพอใครมีผลงานก็แห่กันไปช่วย เพราะแนวดนตรีเวสต์โคสต์นั้นศิลปินแต่ละคนรู้มือกันดีอยู่แล้ว ในแนวทางที่วงต่างๆหรือศิลปินแต่ละคนมีลักษณะเด่นเฉพาะบุคคลซึ่งจะส่อออกมา ส่วนแนวดนตรีของจอร์จในชุดนี้กลับเป็นลักษณะที่ดนตรีแต่ละเพลงจอร์จได้วางหนทางที่จะทดลองความหลากหลายในสิ่งหลายอย่างที่ตนคิดออกมาเท่านั้น ถ้าจะเปรียบเทียบกับดนตรีคลาสสิก คิดว่าฐานะบุคคลในตำแหน่งที่จอร์จควรจะอยู่ก็คือตำแหน่งคอนดักเตอร์ ผู้ซึ่งจะทำเช่นไรให้สมาชิกผู้ร่วมงานแต่ละคนส่อและเปล่งประกายความสามารถที่บุคคลผู้นั้นมีอยู่ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยไม่สูญเสียบุคลิกของดนตรีที่ตนวางเอาไว้ และไม่ทำให้สมาชิกผู้ร่วมวงกลายเป็นจุดที่เด่นในดนตรี โดยทำให้ดนตรีที่ตนเป็นผู้นำเพลงกลายเป็นเพียงองค์ประกอบเท่านั้น

สิ่งเหล่านี้ล่ะครับคือสิ่งที่ผมมองเห็นว่าจอร์จ เบนสัน ได้สร้างและทำดนตรีในรูปแบบที่ดีที่สุดชุดหนึ่งเท่าที่เขาเคยทำมาเลยทีเดียว ดนตรีในแต่ละเพลงในชุดนี้จอร์จอาจจะไม่ใช่พระเอกขี่ม้าขาวแสดงโอ้อวดและอหังการ์ในฝีมือออกมาให้ทุกคนประจักษ์ เสียงกีต้าร์ของจอร์จแม้ว่าจะเยี่ยมยอดแค่ไหน แต่ก็มองเห็นได้ชัดว่า ถ้าไม่มีองค์ประกอบส่วนอื่นที่สมบูรณ์เช้ามาสอดประสานรวมตัวกันกลมกลืนเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันแล้ว ดนตรีที่ออกมาอาจจะไม่สามารถมีความสมบูรณ์แบบในโครงสร้างได้เช่นนี้อีกแล้ว เขียนมาถึงตรงนี้คุณผู้อ่านบางท่านอาจจะสงสัยว่า ถ้าจอร์จทำดนตรีเช่นนี้ขึ้นมา เขาจะไม่สูญเสียเอกลักษณ์หรือลักษณะเด่นในความเป็นศิลปินเดี่ยวไปหรือครับ ในสายตาผมนั้น ผมมองว่าถ้าใครจะเป็นโซโลอาร์ติสต์นั้น หนึ่ง เขาจะต้องสร้างดนตรีในแบบที่โชว์ออฟความสามารถส่วนตัวออกมาอย่างเต็มที่ เท่าที่เขาจะทำได้ แต่ไม่ทำให้ดนตรีชิ้นนั้นกลายเป็นเครื่องเล่นส่วนตัว โดยที่บุคคลภายนอกไม่เข้าใจ หรือมิฉะนั้นก็ทำดนตรีออกมาชิ้นหนึ่ง ให้โครงสร้างของดนตรีทุกรูปแบบสมาชิกที่เข้ามาร่วมงานด้วยทุกคนรวมทั้งตัวเองด้วยมีบทบาทเทียบเท่ากัน ทำให้รูปลักษณ์ของดนตรีที่ออกมา กลายเป็นดนตรีที่รวมตัวกันเข้าเป็นกลุ่มก้อน ไม่ใช่เดี๋ยวกีต้าร์เป็นพระเอก เดี๋ยวเพลงนั้นถ้าปราศจากนักร้องดนตรีที่ออกมาจะไม่ยิ่งใหญ่ จะไม่ไพเราะเท่า แม้กระทั่งตนเองก็ไม่ใส่อัตตาของตนลงไปจนลืมถึงสิ่งที่ตนต้องการเสนอออกมาในตอนต้น

พูดง่ายๆก็คือ ทำดนตรีออกมาให้ตนเองอยู่โดดเด่นเหนือโครงสร้างของดนตรีชิ้นอื่น ถ้าตนเองเป็นโซโลอาร์ติสต์ที่ถนัดเครื่องดนตรีรูปแบบใด หรือมิฉะนั้นก็ทำตนเองเข้าไปกลมกลืนกับดนตรีชิ้นนั้นเสียเลย สำหรับในชุดนี้จอร์จเลือกอย่างหลัง และเขาก็ทำได้ดีที่สุดแล้วด้วย ดนตรีทุกเพลงมีความเป็นตัวเองได้เด่นชัดเหลือเกิน จนไม่รู้ว่าจะพูดเช่นไร เรื่องนี้ก็คงต้องขึ้นกับรสนิยมสำหรับบุคคลแต่ละคนแล้วครับ ว่าจะชอบเพลงในชุดนี้เพลงใดมากกว่ากัน แต่สำหรับผม ผมอาจจะติดโครงสร้างดนตรีในรูปแบบของ เซอร์จิโอ แมนเดส เลยชื่นชอบเพลง Nothing's Gonna Change My Love For You มากที่สุดก็เป็นได้ ไม่ทราบเป็นเช่นไร ฟังดนตรีชิ้นนี้ทีไรคิดถึงเซอร์จิโอก่อนเพื่อนทุกที แต่อย่าไปแปลเจตนาดีของผมว่า จอร์จลอกเลียนมาก็แล้วกันนะครับ เพราะคนละเรื่องกันเลย สำหรับเพลง Stand Up ที่โชว์ลวดลายการพลิ้วสายกีต้าร์ของจอร์จนั้น บางคนก็อาจจะชอบมากเป็นพิเศษ อันที่จริงก็เพราะมาก แต่สำหรับผมแล้วฟังการเล่นกีต้าร์สไตล์นี้ของจอร์จบ่อยเหลือเกินในยุคหลังๆ อาจจะเรียกได้ว่าการเล่นกีต้าร์เช่นนี้เป็นเทรดมาร์คส่วนตัวของจอร์จ เบนสันในยุคปัจจุบันไปแล้ว ฟังดูก็เลยเฉยๆ เพลงนี้อาจจะออกมาเพื่อแฟนดนตรีในแบบคอนเซอร์เวทีฟของจอร์จยุคปัจจุบันก็ได้ อย่างน้อยจอร์จก็ใช้เสียงกีต้าร์ส่วนตัวบอกความในใจว่า เขายังไม่ลืมแฟนดนตรีในรูปแบบนี้ไปกันหรอก อีกเพลงสำหรับคนที่มีความรักเป็นสรณะอยู่ในหัวใจก็คือเพลง You Are The Love Of My Life ได้ฟังแล้วซึมเลยครับ จนอดคิดไม่ได้ว่า ใครฟังเพลงนี้แล้วไม่มีความรู้สึก คนคนนั้นคงหัวใจแข็งกระด้าง และไม่เคยมีความรักเข้าไปแผ้วพานในหัวใจกันเลย เพลงนี้ฟังแล้วเศร้า ฟังแล้วซึ้งครับ สั้นเหลือเกิน เพลงประเภทนี้ อาจจะเป็นความรู้สึกพาไปก็ได้นะครับ ถ้าใครมีโอกาสฟังเพลงนี้ดูแล้วบางครั้งการมองโลกในแบบตัวตนโดดเดี่ยว คงจะเข้าใจอะไรดีขึ้น ว่าความรักนั้นมีคุณค่าขนาดไหน

สำหรับดนตรีชุดนี้เหมาะสำหรับคนที่ชื่นชอบดนตรีดีๆ ฟังง่ายๆ (แต่ไม่ได้หมายความว่าเล่นง่ายๆนะครับ) ฟังดูดีๆจะต้องมีสักเพลงเป็นอย่างน้อยที่จะกลายเป็นเพลงโปรดของคุณไปอีกนาน สำหรับคนที่ชอบดนตรีป๊อบนั้นก็คงชัวร์แน่ว่าพลาดชุดนี้ไม่ได้ คนที่ชอบและเป็นแฟนจอร์จ เบนสัน มานาน อย่าพึ่งไปปักใจและด่วนตัดสินว่าดนตรีชิ้นนี้จะเป็นแจ๊สแท้ๆ เพราะสงสัยแนวแจ๊สที่สอดใส่เข้าไปในแต่ละเพลงนั้น คุณคงจะต้องควานกันเสียแล้ว และถ้าใครคิดว่า แหม ถ้ารู้ว่าแจ๊สฟังสบายหูเช่นนี้ ฟังมานานแล้ว บอกเสียก่อนนะครับว่าไม่จริง คิดอยู่ในใจมานานแล้วว่าถ้าหน้ากระดาษมีเพียงพอ จะนำดนตรีแจ๊สจากศิลปินที่คุณจะต้องไม่เชื่อว่าจะเล่นแจ๊สมาแนะนำ อย่างเช่น สตีฟ สมิธ มือกลองคณะเจอร์นีย์ มาแนะนำให้ฟัง แต่สำหรับชุดนี้เหมาะสำหรับใครก็ได้ที่มีความรักและชื่นชอบดนตรีที่ดีเท่านั้นก็พอครับ แต่ใจจริงส่วนตัวยังอยากจะฟัง จอร์จ เบนสัน ในฐานะศิลปินแจ๊สแท้ๆ เช่นที่เขาเคยทำมาในอดีตที่นานจนเกือบลืมไปแล้ว เช่นในอดีตอันเก่าก่อนที่ผ่านมา เอ๋ นี่ผมแก่แล้วมั้ง ที่อดจะคิดถึงแต่ดนตรียุคเก่าๆไม่ได้อยู่นั่นเอง

SP 202

Ozzy Osbourne :: Bark At The Moon (1983)


ตั้งใจว่าจะรออัลบั้มชุดใหม่ของหมูน้อยผู้น่ารัก แต่เนื่องจากมีเหตุจำเป็นที่ทำให้รอไม่ได้ และถึงคิวที่ต้องเขียน ประกอบกับแฟนๆบอกมาว่า เอามาเขียนเถอะ ใหม่หรือเก่าก็ได้ เอาก็เอา เขียนก็เขียน ดังนั้นถ้าช่วงนี้แผ่นใหม่ของออสซี่ออกวางตลาดอย่าว่ากันนะครับ แต่ชุดนี้เอากันแบบพอประมาณก็พอนะครับ

ไม่ต้องเกริ่นประวัติอันยาวไกลและเกริกเกียรติของหมูน้อยออสซี่กันนะครับ ว่าเขาเป็นนักร้องที่ยิ่งใหญ่ และมีฝีไม้ลายมือในอดีตขนาดไหน ถ้าคุณผู้อ่านจะสังเกตสักนิด น้ำหนักเสียงและการร้องเพลงของออสซี่นั้นจะดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับเสียงกีต้าร์เป็นตัวนำ อาจจะพูดได้ว่าลีลาการเล่นกีต้าร์ของบุคคลใดก็ตาม ถ้าเล่นคู่กับนักร้องที่ชื่ออสซี่ เมื่อมือกีต้าร์เล่นได้เฉียบ การร้องเพลงของออสซี่ก็เฉียบและแหลมคมไปด้วย ถ้ามือกีต้าร์ที่ร่วมงานด้วย เซ็งที่จะทำงาน การร้องของออสซี่ก็แย่ลงตาม เหมือนกับเด็กพึ่งหัดร้อง หรือจะเป็นในทางกลับกันก็ไม่ทราบ สมัยที่ออสซี่อยู่กับแบล็ค แซบฯ จากผลงานชุด Black Sabbath, Vol.4, Paranoid เสียงกีต้าร์ของ Tony Iommi เฉียบขนาดไหน เสียงร้องของออสซี่ก็มีส่วนช่วยเหลือเกื้อกูลทำให้ดนตรีที่แสดงออกมาสะเด็ดยาดแทบขาดใจได้มันอารมณ์มาก แต่พอทางวงเริ่มมีเรื่องขัดกัน การร้องเพลงของออสซี่และกีต้าร์ของโทนี่ก็ตกลงอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นชุด Sabotage, Never Say Die หรือจะรวมถึงดนตรีชั้นยอดในอดีตที่ทางวงออกแผ่นแสดงสดมาก็ตาม จากชุด Live At Last ซึ่งเสียงดนตรีที่ออกมาดุมั่วๆยังไงก็ไม่ทราบ

การประกบคู่กันระหว่างออสซี่และ Randy Rhoads เสมือนการปะทะกันระหว่างเสือและสิงห์แห่งวงการดนตรีเฮฟวี่ทีเดียว ดุเด็ด เผ็ดมัน รุนแรงเร่าร้อน คำจำกัดความของเฮฟวี่ชั้นดี ออสซี่ได้เสนอให้ประจักษ์อีกหน เมื่อแรนดี้เขย่าสายกีต้าร์ในแบบที่ไม่มีใครเหมือน ทำให้นักดนตรีคนอื่นผู้ร่วมงานกลายเป็นตัวประกอบที่บทบาทหนุนออสซี่และแรนดี้ให้โดดเด่นขึ้นมาอีกหน แต่คนดีฟ้าไม่ปราณี แรนดี้ต้องจบชีวิตลงไปอย่างรวดเร็วมาก คิดว่าการที่แรนดี้เสียชีวิตทำให้ออสซี่สูญเสียเหมือนกัน ไม่แน่ใจว่าการปล่อยอัลบั้มชุด Speak (Talk) At The Devil จะเป็นการปล่อยออกมาเพื่อตัดหน้าอัลบั้ม Live Evil ของแบล็ค แซบฯ โดยตั้งใจหรือไม่ ออสซี่อาจจะต้องการประกาศให้ชาวโลกรู้ว่า ดนตรีของแบล็ค แซบฯ ในสมัยที่เขาอยู่ไม่มีใครจะร้องไปได้ดีกว่าเขาอีกแล้ว ต่อให้นักร้องคนนั้นจะเป็นพระกาฬยุคใหม่หรือยุคเดียวกับเขาก็ตามที เขานี่ล่ะคือแบล็ค แซบฯ ตัวจริง แต่เป็นในนามของ Ozzy Osbourne (หมูน้อยผู้น่ารักแต่ลงพุง) หรือจะเป็นเพียงแค่ปล่อยอัลบั้มแสดงสดออกมาขัดจังหวะไม่ให้ชาวเฮฟวี่ลืมไปว่า สายเลือดเฮฟวี่ของเขายังคงเข้มข้น และเขายังอยู่

จากวันนั้นมาถึงวันนี้ จากวันที่เขาเป็นศิลปินเดี่ยว แม้ว่าตอนแรกออสซี่อาจจะไม่ต้องการให้ชื่อของเขาเป็นไปในฐานะศิลปินเดี่ยวก็ตามที (ช่วงแรกออสซี่ประกาศว่าวงใหม่ของเขาชื่อ Blizzard of Ozz ถึงแม้จะมีชื่อ Ozzy Osbourne เด่นสุดเหนือกว่าก็ตามที อาจจะเป็นเพราะชื่อของออสซี่ขายได้ในวงการก็เป็นไปได้ ชื่อ Ozzy Osbourne ก็เลยกลายเป็นชื่ออัลบั้มชุดแรกของออสซี่ไปโดยปริยาย) ออสซี่เล่นบทบุคคลต่างๆนาๆ ซึ่งแสดงถึงสัญลักษณ์แห่งความชั่วร้ายต่างๆนาๆ แล้วแต่เขาจะเมคมันขึ้นมา ออสซี่เคยเป็นพ่อมดหมอผียุคใหม่ในอัลบั้ม Blizzard of Ozz ซึ่งเขาสวมบทบาทของ Mr. Crowley จากเพลงชื่อเดียวกัน เขาสวมบทบาทของคนบ้าที่มีอดีตอันเจ็บปวด (ใครบ้ากันแน่นะ ระหว่างคนที่มีเรียกตนเองว่าคนสติสัมปชัญญะดี แต่เที่ยวไปประณามว่าคนอื่นบ้า นี่อาจจะเป็นสิ่งที่ออสซี่กำลังเสนออกมา) จากอัลบั้มชุด Diary of A Mad Man ก็มีเพลงชื่อเดียวกันเป็นองค์ประกอบของฉาก ออสซี่หันกลับมาสวมบทบาททายาทของซาตานอีกหนจากอัลบั้ม Speak At The Devil เมื่อเขานำเพลงสมัย แบล็ค แซบ ให้กลับฟื้นชีพ (ให้ตนเอง) และในชุด Bark At The Moon เขาสวมบทบาทมนุษย์หมาป่า เห่าหอนถวิลหาดวงจันทร์

ถ้าคุณติดตามผลงานของออสซี่มาตลอด จะเห็นได้ว่าชุดนี้มีบางสิ่งบางอย่างเปลี่ยนแปลงไป ไม่เหมือนกับสมัยที่แรนดี้ยังสะบัดนิ้วลงบนกีต้าร์ สิ่งนั้นก็คือออสซี่ให้ความสำคัญต่อเสียงคีย์บอร์ดมากขึ้น แม้ว่าจะไม่มากถึงขนาดกลบเสียงกีต้าร์ก็ตามที แต่ก็มากที่สุดเท่าที่เคยฟังผลงานของออสซี่ทั้งหมดที่ผ่านมา ฝีมือกีต้าร์ของ เจค อี.ลี. (Jake E. Lee) นั้นยังไม่เฉียบเท่าแรนดี้ และยังไม่มีเอกลักษณ์ประจำตัวพอที่จะเอ่ยอ้างขึ้นมาได้ว่า เขาบุกเบิกบางสิ่งบางอย่างขึ้นมา บางช่วงอย่างกัยยืมบุคลิกทางด้านกีต้าร์มาจากบุคคลผู้เคยร่วมงานในอดีตกับออสซี่มาเช่นนั้น เท่าที่ค้นและติดตามข่าวคราวของออสซี่มา ทราบว่าเจคอี.ลี. มีบทบาทในการแสดงสดที่เมามันมาก บางครั้งอัลบั้มชุดใหม่ของออสซี่ที่จะวางตลาดอาจจะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า แต็ค จะห้าวหาญไปปะทะกับยักษ์ใหญ่และเด่นดังขึ้นมาด้วยความเป็นตัวของตัวเอง หรือจะอาศัยบารมีของยักษ์ช่วยประทังชื่อเสียงให้กับตนเองเท่านั้น มันเป็นเรื่องผิดกันระหว่างการแสดงสดและการฟังดนตรีจากอัลบั้มแผ่นเสียง

ที่เห็นได้ชัดก็คือเพลง So Tired ซึ่งคนฟังดนตรีร็อคหวานๆชอบกันมาก แทบทุกคนลงความเห็นเหมือนกันว่า นี่เป็นดนตรีในแนว ELO ถ้าจะเจาะลึกกันลงไปจริงๆ ก็เห็นจะต้องบอกว่า ออสซี่นั้นยืมบุคลิกทางด้านดนตรีมาจาก Beatles ผมเห็นด้วยครับ อันที่จริงก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกอะไรที่ออสซี่จะมีเพลงร็อคนุ่มๆหวานๆ เพราะเขาก็เคยทำมาแล้ว อย่างเช่นเพลง Goodbye To Romance หรือเพลง Change จากชุด Vol.4 แต่สิ่งที่ออสซี่ได้กระทำในอดีต ไม่เคยสูญเสียบุคลิกของตนเองมากขนาดนี้ เห็นได้ชัดว่าบทบาทของ Don Airey (คีย์บอร์ด ประวัติยาวไกลเหลือเกินคนนี้) เด่นมากขนาดไหน ในขณะที่ดนตรีแนวนี้ในอดีตไม่เคยใช้เสียงคีย์บอร์ดเป็นตัวสื่อออกมาได้เต็มที่เช่นนี้ ถ้าจะเอาคุณค่าทางด้านดนตรีหรือความไพเราะ เพลงนี้มีให้ครบ แต่ถ้าต้องการบุคลิกของออสซี่ในเสียงเพลงนี้ ลืมมันไปก่อนเถอะครับ เฉพาะร่องนี้

ถ้าต้องการความเป็นเฮฟวี่ที่เมามันและสนุกแบบโหดๆล่ะก็ชุดนี้คุ้มค่ามาก เสียงดนตรีคงบุคลิกดนตรีเฮฟวี่ไว้ได้เต็มที่ แต่ก็ยังคงลักษณะดนตรีในแบบยุคอดีตที่พวกเขาบากบั่นสร้างกันขึ้นมา แต่นำมาประยุกต์เข้ากับยุคสมัยที่่ผ่านเลยวันวานในอดีตที่เคยรุ่งโรจน์ของเขามาแล้ว เหมือนกับที่เขาประกาศความเป็นตนเองออกมาทางเสียงเพลง Rock 'n' Roll Rebel เขาเป็นกบฎแห่งวงการร็อคแอนด์โรล แต่เขาได้ทำในสิ่งที่ดีที่สุดเท่าที่ผู้อาวุโสแห่งวงการเฮฟวี่รุ่นเดียวกับเขาเคยสร้างขึ้นมา เขาไม่ถึงกับอนุรักษ์ของเก่า แต่เขาก็ไม่นิยมของใหม่ แต่เขานำดนตรีทั้งสองเข้ามาพบกัน อย่างน้อยเขาก็มีค่าคู่ควรที่จะหอนต่อพระจันทร์แล้ว ประกาศให้นอกโลกรู้ว่าเขายิ่งใหญ่แค่ไหน

เขาไม่เหมือนกับพวกเฮฟวี่ยุคกลางเก่ากลางใหม่ที่เสมอบุคลิกดนตรีออกมาด้วยความเมามันและดนตรีที่จับเสียงดนตรีออกได้ยากอย่าง Judas Priest, AC/DC, ฯลฯ หรือเฮฟวี่ยุคใหม่ที่มีช่วงเมโลดี้ที่เห็นได้ชัดว่าใส่ลักษณะดนตรีป๊อบเข้าไป อย่าง Def Leppard หรือในทางกลับกันวงเฮฟวี่ร่วมสมัยเดียวกับเขา ที่ไม่ยอมพัฒนาตนเองขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็น Deep Purple ยุคใหม่ (ถึงยังไงผมก็ชอบชุดนี้) Mountain แม้ว่าวงพวกนี้จะออกแผ่นหลังออสซี่ก็ตามที แต่ก็เห็นถึงลักษณะความแตกต่างอย่างที่บอกมาได้ชัดแจ้ง

ออสซี่ไม่ทิ้งเสียงกีต้าร์ที่เป็นหัวใจของเฮฟวี่ลงไป แม้จะเพิ่มบทบาทของคีย์บอร์ดเข้ามาก็ตามที เมื่อกีต้าร์เฉียบได้ดังใจที่ออสซี่ต้องการ เสียงของออสซี่ก็ดีได้ใจหายเช่นที่ได้บอกไปแล้ว คนอายุเกือบสี่สิบ (หรือสี่สิบแล้วก็บ่ฮู้) ยังคงรักษาพลังเสียงได้เด่นเช่นนี้ หาได้ไม่ง่ายนะครับ

เช่นเดียวกับที่บอกตอนต้น ออสซี่ชอบแสดงรูปลักษณ์แห่งความชั่วร้ายออกมาทางปกแผ่น แต่ก็มีความสัมพันธ์ต่อเสียงดนตรีที่สอดใส่ไว้ในอัลบั้มของเขาอยู่ตลอดเวลา ในชุดนี้ก็มีเพลง Bark at The Moon ไตเติ้ลแทร็คชื่อเดียวกับอัลบั้ม จัดได้ว่านี่เป็นหนึ่งในเพลงเฮฟวี่ชั้นดีอีกเพลงที่ออสซี่เคยแต่งขึ้นมาทีเดียว เพลงอื่นๆในอัลบั้มชุดนี้ก็หาได้ด้อยไปกว่าไตเติ้ลแทร็คเพลงนี้เลย ถ้าสายเลือดเฮฟวี่คุณเข้มข้น แล้วคุณไม่มีโอกาสฟังชุดนี้ ระวังเลือดเฮฟวี่คุณจะเจือจางโดยไม่รู้ตัวนะครับ

เวลาเจอเพื่อนที่สนใจเฮฟวี่ ผมจะได้รับคำถามว่า โดยส่วนตัวผมชอบชุดไหนของออสซี่มากที่สุด คำตอบก็คือ.... (ไม่บอกในช่วงนี้ดีกว่า) แต่ชุด Bark At The Moon ก็เป็นหนึ่งในอัลบั้มชั้นดีของออสซี่ที่เขาเคยทำกันออกมา รวมทั้งในรอบปี 1983 ซึ่งอัลบั้มชุดนี้ออกวางตลาดด้วย อัลบั้มชุดนี้ควรขึ้นในทำเนียบดนตรีเฮฟวี่ชั้นดีในปีนั้น

SP 201

The Firm :: The Firm (1985)


"วงดนตรีหรือวงแบ็คอัพ"

เขียนจบรอบแรกไปแล้ว และก็ฉีกทิ้งเรียบร้อยแล้วเช่นกัน เพราะเมื่อมานั่งอ่านดูตามหลักของข้อเขียนไปเน้นความยิ่งใหญ่ในอดีตของศิลปินระดับเซียนบางคนในวงเดอะเฟิร์มนี้ จนกลัวว่าความยิ่งใหญ่ของศิลปิน กำลังจะบดบังความเป็นดนตรีที่แท้จริงทิ้งเสีย

ลักษณะการฟังเพลงในส่วนตัวของผมนั้นมีจุดอ่อนหลายอย่าง ในจำนวนหลายสิ่งหลายอย่างนั้นก็คือ การชอบตั้งความหวังเอาไว้สูงเกินไปสำหรับศิลปินที่ตนเองชื่นชมหรือประทับใจในฝีมือมาก่อน การมีความคิดอย่างนี้ล่ะครับที่จะเป็นตัวบดบังให้มองความแท้จริงของดนตรีออกมาได้ไม่เต็มที่ โดยเฉพาะเมื่อมีหน้าที่มานั่งเขียนเรื่องนี้ ถ้าดนตรีที่ตนเองฟังและตั้งความหวังในการฟังไว้สูง สมมุติเป็นดนตรีที่ดีจริง คุณค่าของดนตรีชิ้นนั้นก็มีค่าเพียงแค่เสมอตัว เพราะตัวคนฟังก็คิดมาก่อนแล้วว่าดนตรีที่ฟังจะต้องเป็นเช่นนี้ แต่ถ้าเป็นในด้านตรงกันข้าม ดนตรีที่ฟังไม่ดีเท่าที่ตนคิด แม้ว่าดนตรีชิ้นนั้นจะเป็นดนตรีที่ดีจริง แต่ไม่เท่าที่คิด หรือดนตรีชิ้นนั้นไม่ดีจริงๆ แต่ภาพพจน์ในสายตาที่ได้ตั้งความหวังนั้นมีส่วนมากในการบดบังความแท้จริงที่เป็นอยู่ ผมใช้สมาธิมากในการเขียนชุดนี้ เพราะไม่ต้องการเอาตัวเองไปยืนอยู่ตรงกลางระหว่างความคิดที่ตนเองมีแล้วใส่ความคิดของตนเป็นข้อเขียนออกไป ไม่ว่าจะเป็นความลำเอียงในด้านดีหรือไม่ แต่ขอรับรองได้อย่างว่า ข้อเขียนชิ้นนี้ได้พยายามเสนอมาอย่างตรงกลางที่สุด เทียบเท่ากับข้อเขียนทุกชิ้นที่ได้เขียนออกมา

ไม่ท้าวความถึงประวัติวงนี้กันนะครับ เพราะกว่าที่คุณจะอ่านฉบับนี้คุณก็คงจะรู้จักชื่อเสียงของศิลปินวงนี้ และคุณก็คงจะหาอ่านกันได้ง่าย เหมือนอยากทราบเมื่อไหร่ก็ทราบได้ ชื่อเสียงของศิลปินระดับนี้เป็นประกัน

เดอะ เฟิร์ม กำลังทำอะไรอยู่ เขากำลังเสนอดนตรีที่จะเป็นบทเรียนรุ่นหลังให้แก่นักดนตรีรุ่นน้อง รุ่นปัจจุบัน ทราบว่าดนตรีที่ไม่แคร์การค้ามันต้องเช่นนี้ ดนตรีที่กำลังเดินสวนทางกับสมัยนิยมของเครื่องดนตรีที่ใช้โปรแกรมเป็นหลักในการสื่อสารเสียงและอารมณ์ออกมาเช่นนั้นหรือ เขากำลังประกาศว่าพระกาฬกลับมาแล้ว ทุกคนจะต้องหลีกทางให้หรือ หรือเขากำลังใช้ชื่อเสียง และความกระหายในเสียงดนตรีของแฟนเพลง ที่กลั้นใจรอฟังผลงานของศิลปินที่ตนเองเฝ้ารอมานานนับเป็นปีๆ ออกอัลบั้มมาเพื่อเก็บเบี้ยบ้ายรายทาง เพื่อความอยู่รอดของตนเอง (เหตุผลข้อนี้เขียนไว้ในฐานะที่ตนเองมีหน้าที่ เพราะแม้แต่ตนเองก็ยังไม่ค่อยเชื่อ) หรือเขากำลังทำในสิ่งที่เขาอยากทำ อันที่จริงมีเหตุผลอีกร้อยแปดพันเก้าที่พอจะบอกได้เลยว่ามันอาจมีมากกว่านั้น และสาเหตุที่เขาทำดนตรีชิ้นนี้ขึ้นมาอาจจะไม่ใช่เหตุผลที่กล่าวมาเลยก็ได้ อาจจะเหมือนคำพูดที่ฝรั่งเขาใช้ว่า The show must go on ใครจะรู้

ไม่ว่าเดอะ เฟิร์ม กำลังทำอะไรอยู่ ดนตรีที่เขาเสนอออกมามันเก่าแล้วครับ มันล้าสมัย เขากำลังเดินสวนทางกับความเป็นจริงในปัจจุบันเต็มที่เลย ดนตรีที่ล้าสมัยแบบของเขา ไม่ใช่ดนตรีที่ล้าสมัยเพื่อความเป็นจริงในปัจจุบัน อย่างเช่นวงฮันนี่ ดริพเพอร์ส, สเตรย์ แคทส์ ได้สร้างขึ้นมา แต่เป็นความล้าสมัยในแบบผู้เฒ่าที่ไม่มองโลกมากกว่า ในขณะที่วงร่วมสมัยหลายต่อหลายวงที่กลับมาสู่ความยิ่งใหญ่ได้นั้น เขารู้ว่าโลกดนตรีในปัจจุบันต้องการอะไร เอาที่มองเห็นได้ชัดเลยนะครับ "เยส" มีใครเคยคิดบ้างว่า คณะนี้ในการกลับมารอบสอง (การกลับมาครั้งแรกจาก Going For The One) ดนตรีที่เขาเสนอออกมาจะเป็นในรูปแบบนี้ แม้ว่าบางคนอาจเริ่มสงสัย เมื่อเห็นชื่อโปรดิวเซอร์บ้างก็ตามที บางครั้งชื่อเสียงอาจจะอยู่เหนือความคิดก็เป็นได้ ในด้านการค้านั้น เยส อาจจะยิ่งใหญ่ได้ ในด้านกล่อง เยสก็ประสบความสำเร็จพอประมาณ การบ้านก็แล้วกันนะครับ ว่าเขาประสบความสำเร็จด้านกล่องคืออะไร แต่ถ้าคุณเคยอ่านบทวิจารณ์ของทางเมืองนอก (ซึ่งบอกตามตรงว่า ผมนั้นไม่ค่อยเห็นความจำเป็นในคอลัมน์อย่างนี้เท่าไหร่นัก รวมทั้งคอลัมน์ของตนเองด้วย แต่ก็ชอบอ่าน สนุกดี) คุณจะเข้าใจในสิ่งที่ผมเขียน และได้เคยบอกกล่าวมาแล้วในสมัยที่ผมเอาชุด 90125 มาเขียน (ออกตัวนิดนะครับว่าผมไม่เคยลอกความคิดใครมาใส่เลย)

ที่ยกตัวอย่างเยสเพืยงเพื่ออยากจะบอกว่า บางครั้งคนเราจะต้องทำอะไรเพื่อความอยู่รอด แม้บางครั้งมันจะสวนทางกับความเป็นจริงที่ควรเป็น หรือความเป็นจริงที่บุคคลภายนอกคิดว่าน่าจะเป็นเช่นนั้น เดอะ เฟิร์ม เดินสวนทางกับดนตรีที่เยสได้กระทำมาก ในอดีตศิลปินยิ่งใหญ่ทั้งคู่ก็ทำดนตรีแนวนี้ ในปัจจุบันไม่มีอะไรในกอไผ่ให้มองเห็นเลย นอกจากคุณค่าทางด้านจิตใจว่า ในที่สุด ตนเองก็มีโอกาสได้ฟังผลงานที่เฝ้ารอมานานนับเป็นปีเท่านั้นเอง

ผมคุ้นกับเสียงของ พอล ร็อดเจอร์ส มากนะครับ เรียกว่าเสียงเขานั้น พอขึ้นมาผมมีสมาธิพอ ผมทราบทันทีว่าน้ำเสียงที่ร้องนั้นคือเขา ผมมีความคิดอย่างหนึ่งคือ ลักษณะการร้องเพลงของเขา เหมือนกับนักร้องเพลงไทยคนหนึ่งคือ สุเทพ วงศ์กำแหง วิธีการร้องเพลงของคู่นี้มีอะไรที่คล้ายกันมาก เสียงของเขาไม่มีลักษณะเหมือนกับการแผดเสียง แม้ว่าเสียงของเครื่องดนตรีจะดังขนาดไหน เสียงร้องและลักษณะเช่นนี้ไม่มีทางที่จะถูกดนตรีข่มได้เลย เขาเปล่งพลังเสียงจากปอดออกมาจากลำคออย่างชนิดที่กล้าพูดว่าวิธีการร้องเพลงเช่นนี้ ถึงจะร้องติดต่อกันไปเรื่อยๆก็ไม่เหนื่อยเท่ากับคนอื่นที่ร้องพอๆกัน

วิธีการร้องเพลงในแบบพอล ใจผมคิดว่าเพจไม่คุ้นเคย คงไม่ต้องย้อนสมัยที่เพจอยู่ยาร์ดเบิร์ดส์ นะครับ ลองดูสมัยอยู่ "เลด เซ็พ" เสียงของแพลนต์ ถ้าเป็นสายน้ำ ก็เหมือนกับสายน้ำที่มีลักษณะการไหลไม่แน่นอนคงตัว บางช่วงเชี่ยวกราดปานจะพังทลายทุกสิ่งทุกอย่างที่ขวางหน้าลงไปได้ แต่ในทันทีทันใด สายน้ำนั้นอาจจะไหลอ้อยอิ่งลงทันทีได้ ส่วนเสียงของพอลนั้น ถ้าเป็นสายน้ำ ก็เปรียบเสมือนสายน้ำที่เบื้องบนของสายน้ำนั้นเงียบสงบเหมือนน้ำนิ่ง แต่ภายในสายน้ำที่ไหลนิ่งนั้น ถ้าดำดิ่งลงไปคนดำจะรู้สึกทันทีว่ามันเชี่ยวกราก มีกระแสคลื่นใต้น้ำที่มีแรงอัดแรงกระทบ ที่ยากจะหาใครทนได้ นั่นเป็นความคิดของผม นักร้องทั้งคู่มีส่วนที่แตกต่างกันมาก (ในขณะที่แผ่นเดี่ยวของแพลนต์ เคยเขียนไปแล้วไม่เอ่ยถึง) ดังนั้นความเข้ากันได้ของเสียงประสานทั้งคู่ยังไม่กลมกลืนนัก

ในขณะที่เซียนเหยียบเมฆทั้งคู่คนหนึ่ง ไม่มีทีท่าว่าจะเข้ามาพบกันครึ่งทาง (นี่เป็นคำพูดอมตะของแมคอาเธอร์ สุดเพราะเลย นอกจากที่เขาเคยพูดว่า "แล้วข้าจะกลับมา") ส่วนอีกคนก็ยังคุ้นกับความเป็นอดีตอยู่ ดนตรีที่ฟังเลยมีตัวแปรที่ไม่คงรูป และเพราะความยิ่งใหญ่ของทั้งคู่นี่ล่ะ ทำให้ดนตรีที่ออกมาเป็นเช่นนี้ สมมุติว่าชุดนี้ได้มือกีต้าร์ที่มีบารมีน้อยกว่าพอลมาเป็นคนเล่นให้ พอลอาจจะมีอัตตามากพอที่จะบอกมือกีตัาร์คนนั้นให้เล่นในสไตล์ที่เขาต้องการให้เป็น และดนตรีชิ้นเดียวกันในนามของเดอะ เฟิร์ม ก็อาจกลายเป็นผลงานบลูส์ไปเลยก็ได้ และถ้าเพจได้นักร้องในสไตล์ที่เขาถนัด ดนตรีที่ออกมาอาจจะเป็นรูปแบบ เลด เซ็พ ภาคสองก็เป็นได้ หรืออาจจะเป็นแนวอื่นที่เพจต้องการก็ได้ แต่เนื่องจากทั้งคู่ยิ่งใหญ่เหลือเกิน และข้อสำคัญคือเป็นเพื่อนกันด้วย ดนตรีที่ออกมาจึงเป็นไปในแบบที่ผมกล่าวมาแล้ว

แต่ตัวแปรที่เห็นได้เด่นชัดคือ ลักษณะดนตรีของพอล ร็อดเจอร์ส เด่นกว่าเพจครับ อยากให้ลองฟังเพลง Together ลักษณะการร้อง ลักษณะดนตรีเป็นแบบที่พอลถนัดมากตั้งแต่สมัยอยู่แบดคอม และในผลงานเดี่ยวของเขาแล้วครับ หรืออย่างเพลง You've Lost That Lovin' Feeling (เพลงเก่าของไรเชียส บราเธอร์ส) เป็นเพลงที่ได้รับการ

เท่าที่คิดออกตอนนี้ (ตอบให้โก้ๆไปอย่างนั้นล่ะครับ) แต่ชุดนี้ เสียงเบสของเขาไม่ประทับใจเลย แต่ผมกลับชื่นชมวิธีการใส่เสียงซินธีไซเซอร์ลงในเพลงของแฟรงคลินมากกว่า อย่างเพลง Satisfaction Guaranteed เสียงซินของโทนี่ช่วยส่งเสียงร้องของพอลให้หวานมากขึ้นทีเดียว และนี่ก็คือหนึ่งในเพลงที่ดีมากของเดอะ เฟิร์มด้วย ดีกว่า Radioactive ที่กล่าวขวัญในแง่ลบมากที่สุด และผมเห็นด้วยเต็มที่เลยว่าสู้ H&O ไม่ได้เลย เหตผลอย่างที่บอก แต่มีจุดหนึ่งที่น่าสนใจมากคือช่วงท้ายของเพลง เป็นลูกเล่นที่เลด เซพ ชอบใช้มากที่สุด คือการส่งกลองเพื่อส่งดนตรี คริส สเลด มือกลองมีระดับ ชื่อเสียงอยู่ในขั้นเยี่ยม ก่อนที่จะเขียนถึงชุดนี้ ผมหาผลงานของคริสมานั่งฟังเท่าที่จะหาได้ ก็มากกว่า 5 ชุดล่ะครับ (ในคณะที่คริสเคยร่วมงาน) ผมกล้าพูดว่า คริส ไม่เคยมีสไตล์การตีกลองและส่งกลองเช่นนี้มาก่อนเลย แนวส่งกลองแบบนี้บอนแฮมถนัดมากเป็นพิเศษ แต่ของบอนแฮมนั้นเขาใช้พลังข้อจริงๆ (ถ้าคุณมีโอกาสฟังชุด Led Zep Livie Vol.1 ซึ่งเป็นแผ่นผีที่ออกในญี่ปุ่น คุณจะเข้าใจในสิ่งที่ผมพูดมากขึ้น) แต่ของคริสนั้นขอทำตัวเป็นหมอเดาว่า ใช้การมิกซ์และการวางลำโพงเข้าช่วยในการปรับเสียงระดับกลองมาก เพราะในหลายๆเพลง ช่างกระแทกกระทั้นกระทุ้งกันมากเหลือเกิน ผิดลักษณะการเคยฟังเสียงกลองของคริส สเลด มาก่อน ผมอาจจะผิดก็ได้ คนเราเมื่อสร้างสมประสบการณ์มากมายอะไรๆก็เป็นได้เสมอ ดังนั้นผมจึงบอกว่า ผมอาจจะคิดผิดก้ได้ แต่ก็ไม่น่าจะถึงระดับดึงลูกเล่นเฉพาะตัวมากันเลย แต่ไม่ทุกเพลงนะครับ

เมื่อพูดกันมาสามคนแล้ว ก็ขอต่อคนสุดท้ายกันเลยนะครับ มือเบส "โทนี่ แฟรงคลิน" ผมไม่เคยฟังผลงานของเขามาเลย เป็นซิงเกิ้ลแรกหลายเท่า ตอนแรกที่อ่านประวัติของเดอะ เฟิร์มมา ทราบว่าตอนแรกจะเอา "พิโน พาลาดิโน" (Pino Palladino) มาเล่น ฝีมือเบสของพิโน เยี่ยมมากนะครับ ยังเคยแปลกใจเลยว่า เขาน่าจะดังกว่าทุกวันนี้มาตั้งนานแล้ว ไม่ต้องพูดอะไรกันมากกว่านี้แล้วนะครับ นักฟังเพลงแต่ละท่านต่างก็มีวิจารณญาณส่วนตัวว่าดนตรีชิ้นนี้เป็นเช่นไร บางคนอาจจะชื่นชอบมาก บางคนอาจจะผิดหวัง สำหรับนักฟังเพลงรุ่นใหม่ที่อยู่ในยุควัฒนธรรม ดนตรีที่มีตัวแปรด้านธุรกิจนำหน้า ไม่ทราบว่าจะทำใจยอมรับว่าดนตรีในรูปแบบของทศวรรษเก่าก่อนที่วงหน้าใหม่แต่ศิลปินหน้าเก่าสามในสี่ร่วมกันสร้างนี้ได้ไหม เพราะดนตรีชิ้นนี้เป็นดนตรีน่าศึกษาว่าทำไมจึงเป็นเช่นนี้ มีตัวแปร มีพอยท์อะไรหรือทำให้ดนตรีมีสรรพเสียงเช่นนี้ เขาให้อะไรแก่เรา เขาแฝงอะไรไว้ในเสียงดนตรี การพัฒนาของดนตรีตั้งแต่ทศวรรษ 60 จนถึงปัจจุบันนี้ มีอะไรที่แตกต่างกันออกไปบ้าง และอีกเยอะแยะ แต่ไม่ใช่ดนตรีที่ฟังเอาเพราะเพื่อผ่านเท่านั้น

ในยุคของดนตรีที่อาจจะไม่มีอะไรให้แก่คนฟังเท่าไหร่นัก เดอะ เฟิร์มแทรกเข้ามา ถ้าเราจะพูดกันในด้านการค้า ตอนที่กำลังเขียนอยู่นี้ ผมถือว่าเดอะ เฟิร์มล้มเหลว ในแคชบ็อกซ์เขาถึงท็อปเทน แต่กว่าจะขึ้นได้ อืดเชียว ในบิลบอร์ด เดอะ เฟิร์มยิ่งอืดใหญ่ (ตอนเขียนอยู่นี้ แม่แต่ท็อปเท็นยังไม่ถึง และยังไม่มีวี่แววจะถึงด้วย)

แต่สำหรับนักฟังรุ่นเก่าก่อน รสนิยมเป็นสิ่งที่ห้ามไม่ได้ มีปัจจัยหลายปัจจัยที่มองชุดนี้ คุณเป็นแฟนเพลงของพวกเขาระดับไหน คุณต้องการอะไรจากดนตรีชิ้นนี้ คุณตั้งความหวังส่วนตัวไว้สูงแค่ไหน คุณมองดนตรีในแง่ใด รสนิยมก็เป็นองค์ประกอบที่สำคัญ ต้องมองหลายแง่มุม ผมได้พยายามมองให้แล้วโดยไม่เอาตัวเองเป็นที่ตั้ง ดนตรีชิ้นนี้คุณตัดสินใจเอาเองนะครับ แต่ในฐานะส่วนตัว ผมค่อนข้างผิดหวัง เพราะผมตั้งความหวังเอาไว้สูงมาก ความผิดไม่ได้อยู่ที่ดนตรี แต่ความผิดอยู่ที่ตัวผมเช่นนั้นหรือ?

SP 200