ตั้งใจว่าจะรออัลบั้มชุดใหม่ของหมูน้อยผู้น่ารัก แต่เนื่องจากมีเหตุจำเป็นที่ทำให้รอไม่ได้ และถึงคิวที่ต้องเขียน ประกอบกับแฟนๆบอกมาว่า เอามาเขียนเถอะ ใหม่หรือเก่าก็ได้ เอาก็เอา เขียนก็เขียน ดังนั้นถ้าช่วงนี้แผ่นใหม่ของออสซี่ออกวางตลาดอย่าว่ากันนะครับ แต่ชุดนี้เอากันแบบพอประมาณก็พอนะครับ
ไม่ต้องเกริ่นประวัติอันยาวไกลและเกริกเกียรติของหมูน้อยออสซี่กันนะครับ ว่าเขาเป็นนักร้องที่ยิ่งใหญ่ และมีฝีไม้ลายมือในอดีตขนาดไหน ถ้าคุณผู้อ่านจะสังเกตสักนิด น้ำหนักเสียงและการร้องเพลงของออสซี่นั้นจะดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับเสียงกีต้าร์เป็นตัวนำ อาจจะพูดได้ว่าลีลาการเล่นกีต้าร์ของบุคคลใดก็ตาม ถ้าเล่นคู่กับนักร้องที่ชื่ออสซี่ เมื่อมือกีต้าร์เล่นได้เฉียบ การร้องเพลงของออสซี่ก็เฉียบและแหลมคมไปด้วย ถ้ามือกีต้าร์ที่ร่วมงานด้วย เซ็งที่จะทำงาน การร้องของออสซี่ก็แย่ลงตาม เหมือนกับเด็กพึ่งหัดร้อง หรือจะเป็นในทางกลับกันก็ไม่ทราบ สมัยที่ออสซี่อยู่กับแบล็ค แซบฯ จากผลงานชุด Black Sabbath, Vol.4, Paranoid เสียงกีต้าร์ของ Tony Iommi เฉียบขนาดไหน เสียงร้องของออสซี่ก็มีส่วนช่วยเหลือเกื้อกูลทำให้ดนตรีที่แสดงออกมาสะเด็ดยาดแทบขาดใจได้มันอารมณ์มาก แต่พอทางวงเริ่มมีเรื่องขัดกัน การร้องเพลงของออสซี่และกีต้าร์ของโทนี่ก็ตกลงอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นชุด Sabotage, Never Say Die หรือจะรวมถึงดนตรีชั้นยอดในอดีตที่ทางวงออกแผ่นแสดงสดมาก็ตาม จากชุด Live At Last ซึ่งเสียงดนตรีที่ออกมาดุมั่วๆยังไงก็ไม่ทราบ
การประกบคู่กันระหว่างออสซี่และ Randy Rhoads เสมือนการปะทะกันระหว่างเสือและสิงห์แห่งวงการดนตรีเฮฟวี่ทีเดียว ดุเด็ด เผ็ดมัน รุนแรงเร่าร้อน คำจำกัดความของเฮฟวี่ชั้นดี ออสซี่ได้เสนอให้ประจักษ์อีกหน เมื่อแรนดี้เขย่าสายกีต้าร์ในแบบที่ไม่มีใครเหมือน ทำให้นักดนตรีคนอื่นผู้ร่วมงานกลายเป็นตัวประกอบที่บทบาทหนุนออสซี่และแรนดี้ให้โดดเด่นขึ้นมาอีกหน แต่คนดีฟ้าไม่ปราณี แรนดี้ต้องจบชีวิตลงไปอย่างรวดเร็วมาก คิดว่าการที่แรนดี้เสียชีวิตทำให้ออสซี่สูญเสียเหมือนกัน ไม่แน่ใจว่าการปล่อยอัลบั้มชุด Speak (Talk) At The Devil จะเป็นการปล่อยออกมาเพื่อตัดหน้าอัลบั้ม Live Evil ของแบล็ค แซบฯ โดยตั้งใจหรือไม่ ออสซี่อาจจะต้องการประกาศให้ชาวโลกรู้ว่า ดนตรีของแบล็ค แซบฯ ในสมัยที่เขาอยู่ไม่มีใครจะร้องไปได้ดีกว่าเขาอีกแล้ว ต่อให้นักร้องคนนั้นจะเป็นพระกาฬยุคใหม่หรือยุคเดียวกับเขาก็ตามที เขานี่ล่ะคือแบล็ค แซบฯ ตัวจริง แต่เป็นในนามของ Ozzy Osbourne (หมูน้อยผู้น่ารักแต่ลงพุง) หรือจะเป็นเพียงแค่ปล่อยอัลบั้มแสดงสดออกมาขัดจังหวะไม่ให้ชาวเฮฟวี่ลืมไปว่า สายเลือดเฮฟวี่ของเขายังคงเข้มข้น และเขายังอยู่
จากวันนั้นมาถึงวันนี้ จากวันที่เขาเป็นศิลปินเดี่ยว แม้ว่าตอนแรกออสซี่อาจจะไม่ต้องการให้ชื่อของเขาเป็นไปในฐานะศิลปินเดี่ยวก็ตามที (ช่วงแรกออสซี่ประกาศว่าวงใหม่ของเขาชื่อ Blizzard of Ozz ถึงแม้จะมีชื่อ Ozzy Osbourne เด่นสุดเหนือกว่าก็ตามที อาจจะเป็นเพราะชื่อของออสซี่ขายได้ในวงการก็เป็นไปได้ ชื่อ Ozzy Osbourne ก็เลยกลายเป็นชื่ออัลบั้มชุดแรกของออสซี่ไปโดยปริยาย) ออสซี่เล่นบทบุคคลต่างๆนาๆ ซึ่งแสดงถึงสัญลักษณ์แห่งความชั่วร้ายต่างๆนาๆ แล้วแต่เขาจะเมคมันขึ้นมา ออสซี่เคยเป็นพ่อมดหมอผียุคใหม่ในอัลบั้ม Blizzard of Ozz ซึ่งเขาสวมบทบาทของ Mr. Crowley จากเพลงชื่อเดียวกัน เขาสวมบทบาทของคนบ้าที่มีอดีตอันเจ็บปวด (ใครบ้ากันแน่นะ ระหว่างคนที่มีเรียกตนเองว่าคนสติสัมปชัญญะดี แต่เที่ยวไปประณามว่าคนอื่นบ้า นี่อาจจะเป็นสิ่งที่ออสซี่กำลังเสนออกมา) จากอัลบั้มชุด Diary of A Mad Man ก็มีเพลงชื่อเดียวกันเป็นองค์ประกอบของฉาก ออสซี่หันกลับมาสวมบทบาททายาทของซาตานอีกหนจากอัลบั้ม Speak At The Devil เมื่อเขานำเพลงสมัย แบล็ค แซบ ให้กลับฟื้นชีพ (ให้ตนเอง) และในชุด Bark At The Moon เขาสวมบทบาทมนุษย์หมาป่า เห่าหอนถวิลหาดวงจันทร์
ถ้าคุณติดตามผลงานของออสซี่มาตลอด จะเห็นได้ว่าชุดนี้มีบางสิ่งบางอย่างเปลี่ยนแปลงไป ไม่เหมือนกับสมัยที่แรนดี้ยังสะบัดนิ้วลงบนกีต้าร์ สิ่งนั้นก็คือออสซี่ให้ความสำคัญต่อเสียงคีย์บอร์ดมากขึ้น แม้ว่าจะไม่มากถึงขนาดกลบเสียงกีต้าร์ก็ตามที แต่ก็มากที่สุดเท่าที่เคยฟังผลงานของออสซี่ทั้งหมดที่ผ่านมา ฝีมือกีต้าร์ของ เจค อี.ลี. (Jake E. Lee) นั้นยังไม่เฉียบเท่าแรนดี้ และยังไม่มีเอกลักษณ์ประจำตัวพอที่จะเอ่ยอ้างขึ้นมาได้ว่า เขาบุกเบิกบางสิ่งบางอย่างขึ้นมา บางช่วงอย่างกัยยืมบุคลิกทางด้านกีต้าร์มาจากบุคคลผู้เคยร่วมงานในอดีตกับออสซี่มาเช่นนั้น เท่าที่ค้นและติดตามข่าวคราวของออสซี่มา ทราบว่าเจคอี.ลี. มีบทบาทในการแสดงสดที่เมามันมาก บางครั้งอัลบั้มชุดใหม่ของออสซี่ที่จะวางตลาดอาจจะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า แต็ค จะห้าวหาญไปปะทะกับยักษ์ใหญ่และเด่นดังขึ้นมาด้วยความเป็นตัวของตัวเอง หรือจะอาศัยบารมีของยักษ์ช่วยประทังชื่อเสียงให้กับตนเองเท่านั้น มันเป็นเรื่องผิดกันระหว่างการแสดงสดและการฟังดนตรีจากอัลบั้มแผ่นเสียง
ที่เห็นได้ชัดก็คือเพลง So Tired ซึ่งคนฟังดนตรีร็อคหวานๆชอบกันมาก แทบทุกคนลงความเห็นเหมือนกันว่า นี่เป็นดนตรีในแนว ELO ถ้าจะเจาะลึกกันลงไปจริงๆ ก็เห็นจะต้องบอกว่า ออสซี่นั้นยืมบุคลิกทางด้านดนตรีมาจาก Beatles ผมเห็นด้วยครับ อันที่จริงก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกอะไรที่ออสซี่จะมีเพลงร็อคนุ่มๆหวานๆ เพราะเขาก็เคยทำมาแล้ว อย่างเช่นเพลง Goodbye To Romance หรือเพลง Change จากชุด Vol.4 แต่สิ่งที่ออสซี่ได้กระทำในอดีต ไม่เคยสูญเสียบุคลิกของตนเองมากขนาดนี้ เห็นได้ชัดว่าบทบาทของ Don Airey (คีย์บอร์ด ประวัติยาวไกลเหลือเกินคนนี้) เด่นมากขนาดไหน ในขณะที่ดนตรีแนวนี้ในอดีตไม่เคยใช้เสียงคีย์บอร์ดเป็นตัวสื่อออกมาได้เต็มที่เช่นนี้ ถ้าจะเอาคุณค่าทางด้านดนตรีหรือความไพเราะ เพลงนี้มีให้ครบ แต่ถ้าต้องการบุคลิกของออสซี่ในเสียงเพลงนี้ ลืมมันไปก่อนเถอะครับ เฉพาะร่องนี้
ถ้าต้องการความเป็นเฮฟวี่ที่เมามันและสนุกแบบโหดๆล่ะก็ชุดนี้คุ้มค่ามาก เสียงดนตรีคงบุคลิกดนตรีเฮฟวี่ไว้ได้เต็มที่ แต่ก็ยังคงลักษณะดนตรีในแบบยุคอดีตที่พวกเขาบากบั่นสร้างกันขึ้นมา แต่นำมาประยุกต์เข้ากับยุคสมัยที่่ผ่านเลยวันวานในอดีตที่เคยรุ่งโรจน์ของเขามาแล้ว เหมือนกับที่เขาประกาศความเป็นตนเองออกมาทางเสียงเพลง Rock 'n' Roll Rebel เขาเป็นกบฎแห่งวงการร็อคแอนด์โรล แต่เขาได้ทำในสิ่งที่ดีที่สุดเท่าที่ผู้อาวุโสแห่งวงการเฮฟวี่รุ่นเดียวกับเขาเคยสร้างขึ้นมา เขาไม่ถึงกับอนุรักษ์ของเก่า แต่เขาก็ไม่นิยมของใหม่ แต่เขานำดนตรีทั้งสองเข้ามาพบกัน อย่างน้อยเขาก็มีค่าคู่ควรที่จะหอนต่อพระจันทร์แล้ว ประกาศให้นอกโลกรู้ว่าเขายิ่งใหญ่แค่ไหน
เขาไม่เหมือนกับพวกเฮฟวี่ยุคกลางเก่ากลางใหม่ที่เสมอบุคลิกดนตรีออกมาด้วยความเมามันและดนตรีที่จับเสียงดนตรีออกได้ยากอย่าง Judas Priest, AC/DC, ฯลฯ หรือเฮฟวี่ยุคใหม่ที่มีช่วงเมโลดี้ที่เห็นได้ชัดว่าใส่ลักษณะดนตรีป๊อบเข้าไป อย่าง Def Leppard หรือในทางกลับกันวงเฮฟวี่ร่วมสมัยเดียวกับเขา ที่ไม่ยอมพัฒนาตนเองขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็น Deep Purple ยุคใหม่ (ถึงยังไงผมก็ชอบชุดนี้) Mountain แม้ว่าวงพวกนี้จะออกแผ่นหลังออสซี่ก็ตามที แต่ก็เห็นถึงลักษณะความแตกต่างอย่างที่บอกมาได้ชัดแจ้ง
ออสซี่ไม่ทิ้งเสียงกีต้าร์ที่เป็นหัวใจของเฮฟวี่ลงไป แม้จะเพิ่มบทบาทของคีย์บอร์ดเข้ามาก็ตามที เมื่อกีต้าร์เฉียบได้ดังใจที่ออสซี่ต้องการ เสียงของออสซี่ก็ดีได้ใจหายเช่นที่ได้บอกไปแล้ว คนอายุเกือบสี่สิบ (หรือสี่สิบแล้วก็บ่ฮู้) ยังคงรักษาพลังเสียงได้เด่นเช่นนี้ หาได้ไม่ง่ายนะครับ
เช่นเดียวกับที่บอกตอนต้น ออสซี่ชอบแสดงรูปลักษณ์แห่งความชั่วร้ายออกมาทางปกแผ่น แต่ก็มีความสัมพันธ์ต่อเสียงดนตรีที่สอดใส่ไว้ในอัลบั้มของเขาอยู่ตลอดเวลา ในชุดนี้ก็มีเพลง Bark at The Moon ไตเติ้ลแทร็คชื่อเดียวกับอัลบั้ม จัดได้ว่านี่เป็นหนึ่งในเพลงเฮฟวี่ชั้นดีอีกเพลงที่ออสซี่เคยแต่งขึ้นมาทีเดียว เพลงอื่นๆในอัลบั้มชุดนี้ก็หาได้ด้อยไปกว่าไตเติ้ลแทร็คเพลงนี้เลย ถ้าสายเลือดเฮฟวี่คุณเข้มข้น แล้วคุณไม่มีโอกาสฟังชุดนี้ ระวังเลือดเฮฟวี่คุณจะเจือจางโดยไม่รู้ตัวนะครับ
เวลาเจอเพื่อนที่สนใจเฮฟวี่ ผมจะได้รับคำถามว่า โดยส่วนตัวผมชอบชุดไหนของออสซี่มากที่สุด คำตอบก็คือ.... (ไม่บอกในช่วงนี้ดีกว่า) แต่ชุด Bark At The Moon ก็เป็นหนึ่งในอัลบั้มชั้นดีของออสซี่ที่เขาเคยทำกันออกมา รวมทั้งในรอบปี 1983 ซึ่งอัลบั้มชุดนี้ออกวางตลาดด้วย อัลบั้มชุดนี้ควรขึ้นในทำเนียบดนตรีเฮฟวี่ชั้นดีในปีนั้น
SP 201
SP 201
No comments:
Post a Comment