เป็นครั้งแรกที่นำผลงานในช่วง Best Of The Month มาลงในช่วงเดินตามร่อง เหตุผลง่ายๆก็คือตัวแทนจัดจำหน่ายส่งมาให้
ก่อนที่จะเขียนถึงผลงานชุดนี้ของคณะไดร์สเตรทส์ได้นำผลงานที่เกี่ยวข้องกับคณะนี้มาฟังเท่าที่จะหาได้ มีผลงานของทางคณะโดยตรงทุกชุด ยกเว้นชุดสามเพราะไม่มี ผลงานเดี่ยวของมาร์คชุด Local Hero และ Cal สำหรับเรื่อง Comfort and Joy ไม่ทราบเหมือนกันว่ามีการทำเป็นอัลบั้มหรือไม่ เพราะค้นรายละเอียดแล้วไม่เจอ ผลงานของเดวิดผู้น้อง รวมทั้งผลงานของจอห์น ไออิสลีย์ (John Illsley) อ่านถูกหรือไม่ก็ไม่ทราบนะครับ สงสัยจะเป็นคนไอริช ชื่อแปลกดีจัง ทำให้อ่านยากไปด้วย เมื่อฟังจบแล้วผมมีความสงสัยในข้อเขียนของคนเมืองนอกเกิดขึ้นว่า ความคิดที่ออกมาว่า "ผลงานชุด Love Over Gold เป็นผลงานที่ไม่มีคุณค่า เมื่อถูกผลิตออกมาในนามคณะที่ชื่อไดร์สเตรทส์ เพราะนี่ควรเป็นผลงานเดี่ยวของมาร์ค นอฟเลอร์"
ครั้งหนึ่งถ้ายังจำกันได้ถึงข้อเขียนของผมจากชุด Love Over Gold ผมเคยบอกเอาไว้ว่า สิ่งที่ทางเมืองนอกพูดนั้นมีส่วนเป็นความจริง แต่ผมคำนึงถึงผลงานที่ออกมาแล้วเห็นว่าเป็นผลงานที่ดีจริงๆ แต่สำหรับในปัจุบัน ผมก็ยังคิดว่าสิ่งที่ทางเมืองนอกพูดนั้นเป็นความจริง แต่ผมตะขิดตะขวงใจนิดว่า ลักษณะการเขียนออกมาเช่นนี้เป็นลักษณะอัดศิลปินดังหรือศิลปินที่ดังนั้นถ้าได้อัดได้เหยียบนั้นมันพิลึกเลยเสียมากกว่ามั้งครับ เพราะถ้าจะมีความคิดเห็นเช่นนี้ควรจะมีมานานแล้ว ไม่ใช่มามีเมื่อผลงานชุด Love Over Gold ถูกผลิตขึ้นมา เพราะแนวดนตรีของไดร์สเตรทส์นั้นถ้ามองดูกันอย่างจริงจังแล้ว จากชุดแรกจนถึงชุดปัจจุบันทางคณะมีการวางโครงสร้างของดนตรีเอาไว้อย่างมีรากฐานและลักษณะการทำงานที่มีจุดมุ่งหมายปลายทางที่แน่นอน ผลงานของเขาเมื่อฟังอย่างละเอียดกันตั้งแต่ชุดแรกจนถึงปัจจุบันจะเห็นถึงการพัฒนาโครงสร้างการเจริญเติบโตของฝีมือและคุณลักษณะของสมาชิกแต่ละบุคคลได้เด่นชัด เป็นข้อพิสูจน์ได้ว่าประสบการณ์และการเรียนรู้เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมและสร้างสรรค์ถึงคุณลักษณะงานและความรู้กันได้ ดังนั้นงานของคณะนี้ในอดีต ถ้าเอามานั่งฟังกันใหม่ในปัจจุบัน จะรู้สึกได้ทันทีว่า สู้ผลงานยุคปัจจุบันไม่ได้ สำหรับวงการดนตรีนั้นเป็นเรื่องที่น่าแปลก และนานๆเกิดขึ้นเหมือนกันนะครับ เพราะมีคณะดนตรีหลายคณะแล้วเมื่อสร้างผลงานชั้นมาสเตอร์พีซขึ้นมาแล้ว ผลงานต่อๆมานั้นทำสู้ผลงานในยุคเก่าไม่ได้ และส่วนมากจะเป็นเช่นนี้เสียด้วยสิครับ ไดร์ สเตร์ทส์เป็นตัวอย่างของกฏที่ควรเป็นไป แต่ไม่ค่อยมีและไม่ค่อยเกิดให้เห็นด้วยสิครับ
ดังนั้นผมจึงมีความรู้สึกถึงเรื่องข้อเขียนของพวกเมืองนอก (บอกให้ก็ได้ว่า ถ้าจำไม่ผิดคือนิตยสาร Rolling Stone ครับ) ว่าเป็นการอัดศิลปินดังโดยพยายามหาเหตุผลกันมากกว่า แต่จุดที่เขายกขึ้นมานั้นมิใช่โคมลอยเสียทีเดียว มีเหตุมีผลฟังดู (อ่านดู) แล้วเข้าท่าจริงๆ แต่ในปัจจุบันผมไม่ค่อยเห็นด้วยเท่าไหร่นัก แต่ผมว่าอย่างไรพวกเมืองนอกนี่ดีอย่างนะครับ ถ้าเป็นคอลัมน์ประเภทแสดงความคิดเห็นแล้ว ถ้าไม่ชมก็อัดกันเลย โดยเฉพาะถ้าอัดนี่ เขาช่างสรรหาคำพูดที่เจ็บๆมาว่ากันถึงใจจริงๆ ลองดูตอนที่อัดสตีวี่ วอนเดอร์ จากซาวด์แทร็คเรื่อง The Woman In Red
ดังนั้นสำหรับผลงานของไดร์ สเตรทส์แล้วผมคิดว่านี่เป็นอีกผลงานที่ทางคณะสร้างออกมาได้สมบูรณ์แบบมาก การทำงานที่ถูกสร้างขึ้นมานั้นมีการพยายามหนีและสร้างเสริมบารมีประกอบทั้งรูปแบบของโครงสร้างดนตรีของตนออกไปได้อย่างเฉียบขาด ในขณะที่ผลงานในอดีตนั้น โครงสร้างในอัลบ้มแต่ละชุดนั้นถูกแปลนและสร้างขึ้นมาโดยมีรูปแบบที่แน่นอนเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันโดยตลอด ไม่ต้องดูอื่นไกลหรอกครับ ผลงานในชุด Love Over Gold ที่คิดว่านักฟังดนตรีทั้งหลายก็คงรู้จักกันดีอยู่แล้ว สำหรับแฟนดนตรีที่ไม่รู้จัก ผลงานชุดนี้เป็นหนึ่งในผลงานที่น่าสะสมมากนะครับ เป็นรูปแบบของการสร้างงานแบบที่บอกได้ดีที่สุด ดนตรีทุกเพลงประสมประสานและแสดงถึงแนวโน้มที่เป็นชิ้นเดียวกันขึ้นมา แนวดนตรี (มีบางเสียงกล่าวกันว่างานชิ้นนี้มีส่วนประสมของดนตรีโพรเกรสซีฟด้วย มีลักษณะเป็นจริงไม่น้อยทีเดียว เพราะดนตรีนั้นผมเคยบอกกล่าวไว้แล้วว่า ดนตรีชิ้นหนึ่งนั้นมีคุณลักษณะการมองได้หลายรูปแบบ ส่วนผมแล้ว ผมไม่เคยมองดนตรีของคณะนี้ไปไกลขนาดนี้เลยครับ ทั้งๆที่ผมชอบแนวดนตรีเช่นนี้มากนะครับ แต่ลักษณะความคิดเช่นนี้เป็นความคิดที่ผมยอมรับนะครับ) ของ Love Over Gold มีลักษณะที่เราต้องยอมรับกันอย่างง่า เป็นผลงานของอัลบั้มที่เมื่อฟังติดต่อกันทั้งชุดแล้วไม่สะดุดหรือติดในอารมณ์เลย
ส่วนผลงานของ Brothers In Arms นั้นเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง ทางคณะเล่นดนตรีหลายรูปแบบหลายลักษณะหลายโครงสร้าง เพียงแต่พยายามคงเอาไว้ซึ่งแนวดนตรีส่วนตนเอาไว้ ดนตรีที่เล่นมีหลายลักษณะลีลา มีทั้งดนตรีคันทรี่ (น่าสงสัยว่าทางคณะนี้คงชื่นอชอบดนตรีแนวนี้ไม่น้อยทีเดียว เพราะจากผลงานชุดแรกแล้วที่พยายามสอดใส่โครงสร้างดนตรีเช่นนี้เอาไว้), บัลลาด, ร็อค (เนื่องจากความหมายของคำนี้กว้างมาก ผมไม่สามารถบอกออกมาได้ว่าร็อคของไดร์ สเตรทส์นั้นแตกต่างจากคณะอื่นยังไง สำหรับผลงานชุดนี้นั้นทางคณะพยายามที่จะแหวกงงล้อมของตนเองออกมาจากความเป็นร็อคที่ตนถนัดบ้าง ต้องลองหามาฟังดูครับถึงจะเข้าใจในสิ่งที่พูด แต่ขอให้เข้าใจอย่างนะครับ คำว่าร็อคนั้น ไม่หนวกหูเสมอไป ถ้าคุณไม่เร่งโวลุ่มจนแม้กระทั่งคุณก็ทนไม่ได้เอง) จนต้องยอมรับว่าพวกเขาเก่งที่หาทางให้กับตนเองได้
ดังนั้นจึงเป็นการยากที่จะบอกได้ว่าชุดไหนดีกว่ากัน ระหว่าง Love Over Gold และ Brothers In Arms (ที่ต้องบอกเช่นนี้เพราะผมได้รับคำถามเช่นนี้มากเหลือเกิน ที่จำได้ก็คือจดหมาย 3 ฉบับ โทรศัพท์ 4 ราย ดังนั้นจึงขออาศัยช่วงเดินตามร่องตอบเสียเลย) ใครจะดีกว่ากัน อันนี้ต้องขึ้นอยู่ที่ว่าคุณชอบลักษณะการทำงานในแบบใดเสียแล้วครับ
สำหรับเรื่องดนตรีนั้น ผมอยากให้คุณดูการทำดนตรีของทางคณะนี้นิดว่า มีหลายเพลงเหลือเกินที่เป็นการทำงานในลักษณะงานจิ๊กซอ (Jigsaw) เช่นเพลง Money For Nothing และ One World เป็นลักษณะมีโครงสร้างของดนตรีในอดีต 2-3 เพลงที่ถูกนำมาดัดแปลงและปรับปรุง จนมาถึงเปลี่ยนแปลงให้มีลักษณะของคำว่าคล้าย แต่ไม่ใช่ลอก ไม่ใช่ขโมยหรือหยิบยืมมา ถ้าจะทำก็ต้องทำอย่างนี้สิครับ คือให้มองดูแล้วเหมือนคนที่มีสมองเขาทำกัน อย่างที่ผมเคยบอก เมืองนอกเขาก็มีการทำเช่นนี้ แต่เขาทำอย่างคนที่มีสมองครับ ที่บอกเช่นนี้ไม่ใช่แก้ต่างแทนศิลปินเมืองนอก เพียงแต่ว่าถ้าเขาทำดีเราก็ต้องว่าเขาดี ไม่ใช่หาข้อจับผิดหรือเฟ้นหาข้อชมโดยลืมความจริงของการกระทำทั้งสอง และลองดูเพลง The Man's Too Strong ลูกเล่นเพลงนี้ถ้าใครมีชุด Love Over Gold คงจำได้ว่าอยู่ในเพลงไหนนะครับ (อันนี้ต้องยกตัวอย่างหนังเรื่อง Superman ว่าถึงฉากเหาะ ในแต่ละภาพเขาทำได้เนี้ยบมากขึ้นขนาดไหน ลูกเล่นของไดร์ สเตรทส์ก็เหมือนกัน คือฟังดูแล้วดีขึ้นทุกครั้ง นี่คือจุดที่ผมพูดถึง) และเพลง Brothers In Arms ไตเติ้ลแทร็คที่วางเอาไว้เป็นเพลงสุดท้ายนั้น มีลักษณะเหมือนงานยุคแรกของคณะมาก เพียงแต่ลดบทบาทของเครื่องดนตรีชิ้นอื่นลงเท่านั้น และเพิ่มบทบาทของกีต้าร์ให้มากขึ้น ฉลาดจริงๆในการทำงานของดนตรีในแต่ละเพลง
แล้วที่ผมนำชุดนี้ลงในช่วง Best Of The Month นั้นมีค่าคู่ควรไหมครับ และการที่จั่วหัวว่านี่เป็นหนึ่งในสิบของ Best Of The Year ก็คงไม่เกินเลยใช่ไหมครับ เพราะอย่างน้อยก็เป็น 1 ใน 10 ของ Best Of The Year ในความคิดของผมล่ะครับ
SP 207
SP 207
No comments:
Post a Comment