ออกปี - 1968
Producer - Paul A. Rothchild
สังกัด - Elektra
นี่เป็นผลงานชุดที่สองของวงเดอะ ดอร์ส หลังจากที่เขาขึ้นสู่จุดสุดยอดของความสามารถและการมีชื่อเสียงจากอัลบั้มชุด The Doors นี่อาจจะเรียกว่าเป็นจุดบอดอย่างหนึ่งของวงที่มีชื่อเสียงกันขึ้นมาทันทีจากผลงานชุดแรก เพราะไม่แต่คนฟังเท่านั้นที่จะเอามาตรฐานของดนตรีเข้าไปเปรียบเทียบและเอ่ยอ้างว่า ผลงานชุดใหม่สู้ชุดเก่าไม่ได้ แต่คนฟังก็ย่อมเป็นแฟนที่ภักดีต่อวงที่ตนเองชื่นชม เพราะไม่ว่าเช่นไรเขาก็จะซื้อผลงานชุดนั้นกันล่ะ แต่วงดนตรีย่อมเป็นเหยื่อที่โอชะของบรรดานักวิจารณ์ ที่พร้อมที่จะร่วมมือร่วมใจกันเหยียบย่ำ กระทืบ ด่าทอ และกระหน่ำกันทุกวิถึทางที่อำนาจของข้อเขียนจะสามารถจูงใจคนอ่านได้แค่ไหน แน่นอนข้อเขียนย่อมมีผลกระทบกระเทือนต่อยอดขายและความมีชื่อเสียงแน่นอน แต่คนฟังในกลุ่มที่ติดตามกันย่อมรู้ดีว่าความจริงคืออะไร แม้ว่าสิ่งที่ถูกเขียนออกมา อาจจะเป็นความจริงที่ว่าอัลบั้มชุดนี้สู้อัลบั้มชุดแรกไม่ได้ สิ่งเหล่านี้ไม่เลวร้ายสำหรับคนฟังที่สนใจกันอย่างจริงๆจังๆและคนที่รู้จริง แต่สิ่งเหล่านี้จะไปมีผลกระทบกระเทือนต่อคนรุ่นต่อไปในแง่ที่ว่าเขาจะพากันหลีกหนีผลงานชุดนี้ โดยที่ตัวเขาไม่เคยยื่นหูเข้าไปสัมผัสดนตรีชิ้นนั้นเลย เพียงแต่เขายื่นตาเข้าไปอ่านข้อเขียนของคนในอดีต เขาก็สามารถจะวิพากษ์วิจารณ์ดนตรีที่เขาไม่เคยฟังได้ว่าดนตรีชิ้นนั้นชิ้นนี้มันแย่ มันใช้ไม่ได้ขนาดไหน นักฟังส่วนมากไม่ว่าชาติไหนก็ตามทำไมจึงชอบสัมผัสดนตรีที่ต้องใช้โสตประสาทหูในการรับฟังน้อยกว่าการฟังดนตรีด้วยสายตา นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ดนตรีดีๆมากมายหลายต่อหลายชุดถูกเมินด้วยความคิดคนเพียงบางคนที่คิดว่าตนเองมีอิทธิพลเหนือกว่าคนกลุ่มใหญ่ในการฟัง เพียงแต่ลักษณะของการฟัง เราก็ยอมรับความเป็นเผด็จการทางความิคดกันแล้วหรือ ในการที่จะให้คนบางคนเข้ามามีอิทธิพลเช่นนี้ และเรื่องนี้ก็เลยเป็นมรดกตกทอด ที่คนรุ่นใหม่และใหม่ในแบบไม่รู้จบจะยอมรับกันทีเดียวหรือ เราก็คนเหมือนกัน คนเราย่อมจะมีความคิดที่แตกต่างกัน ทำไมมรดกเช่นนี้จึงมีกันอยู่เช่นนี้ คนที่มีชื่อเสียงในอดีตที่คงอยู่ในปัจจุบัน ก็มิได้หมายความว่าความสามารถของเขาจะเหนือไปกว่าคนรุ่นใหม่ที่กำลังก้าวเข้ามาแทนที่ สิ่งที่เขาเหนือกว่าย่อมมีเพียงสิ่งเดียวคือ "ความอาวุโส"
น่าเสียดายที่คนฟังส่วนมากเมินหน้าหนี และไม่ยอมรับความจริงกันในแง่ที่ว่า นี่คือผลงานที่เต็มเปี่ยมไปด้วยพลังอย่างมากอีกชุด ถึงแม้ว่าชุดแรกจะกระหน่ำเอาความเด่นไปครองอย่างเหลือล้น มีผลทำให้ชุดนี้ถูกมองว่าด้อยลงไปถนัดใจ อันที่จริงเรื่องนี้ก็มีส่วนเป็นความจริง เพราะจุดเด่นของเดอะ ดอร์ส นั้น นอกจากว่าจะเป็นวงไซคีดีลิคยุคแรกที่โด่งดังด้วยความเถื่อน อภิมหาราชาซาตาน เทพบุตรสุดโฉดอย่าง จิม มอริสัน จะสร้างภาพพจน์ส่วนตัวว่าเป็นคนที่ไม่แคร์ต่อกฎเกณฑ์สังคม การทำตัวที่ปล่อยเนื้อปล่อยตัว เซ็กซ์ ในแบบที่ไม่มีหางพ่อล่อกันเลย (เป็นที่น่าแปลกว่าจิม มอริสัน ไม่เคยมีข่าวว่ามั่วกับผู้ชายเลย ในขณะที่พวกระดับมีฝีมือด้วยกันในยุคเดียวกัน ที่สามารถคงความดังมาถึงยุคนี้ มีข่าวเช่นนี้ตลอดเวลา แต่สำหรับเรื่องพลังของความเป็นชายนั้น ข่าวของจิมจากการพูดปากต่อปาก รู้สึกว่าจะยกย่องเหลือแสนว่า ทั้งอึด ทั้งทน รวมทั้งมีพลังที่ไม่รู้จักหมด อ่านประวัติพวกนี้ต้องฟังหูไว้หู เพราะข่าวคนฝันว่าเข้าห้องน้ำ แล้วมีนกบินออกมาทางรูทวาร จากปากต่อปาก ความฝันนั้นก็สามารถกลายเป็นความจริงได้ ถึงขนาดที่มีนกอินทรีบินออกมานับสิบนับร่้อยครับ โดยเฉพาะเรื่องแฟนเพลงล่าร็อคสตาร์นั้น บางทีจึงทำให้คำพูดเช่นนี้กิดขึ้นกับมอริสัน ที่เขียนเช่นนี้ไม่ได้ว่ามอริสันนะครับ เพียงแต่ถ้าคุณได้อ่านประวัติของเขามากๆจะเห็นว่าบางเรื่องมันโอเวอร์เกินไป) แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้จิมโด่งดังเหนือเดอะ ดอร์ส ก็คือการเขียนเนื้อเพลง จิมได้ชื่อว่า เขียนเนื้อเพลงในรูปแบบกบฎต่อสังคม แต่เนื้่อเพลงของจิมไม่เคยเขียนให้คนลุกขึ้นมาสู้ หรือสรรเสริญคุณงามความดีของบุคคลใดเลย แต่เนื้อเพลงที่จิมเสนอออกมาเสมอก็คือ ความต่ำทรามของจิตใจมนุษย์ การใช้ถ้อยคำของจิม มอริสัน ไม่เคยใช้ถ้อยคำที่ยากซึ่งคนฟังต้องมานั่งตีความกันเลย ถ้อยคำของจิมเป็นถ้อยคำซื่อๆ ตรงไปตรงมา บางทีประโยคเดียว เขาร้องคำเดียว แต่คนฟังต่างหากที่ให้ความสำคัญต่อเนื้่อเพลงของจิม ขนาดที่เรียกว่ามานั่งตีความสิ่งที่ตรงตัวอยู่แล้วให้มีความลึกซึ้งเกินความตรงตัวนั้น จุดนี้ทำให้ดนตรีของเดอะ ดอร์ส โด่งดังมาก จิมชอบที่จะใส่ความคิดเดิมของตนลงไปในเพลงใหม่ๆที่ตนแต่ง เป็นที่น่าแปลกมาก คนฟังไม่เคยเบื่อที่จะมานั่งฟังความคิดเก่าๆของจิมกันเลย หยิบเพลงไหนของจิม มอริสันขึ้นมาก็ได้ เนื้อเพลงออกมาจากแก่นรากเดียวกันหมด คือความเป็นคน ตราบใดที่คนยังชื่อว่าคนต้องคนกันให้เคี่ยว เนื้อเพลงของจิมจะไม่มีวันล้าสมัย แม้ว่าจะอ่านเนื้่อเพลงของจิมทุกเพลงจะเอียนกันขึ้นมาถึงคอ เสมือนกับคุณนั่งคุยกับเพื่อนที่เอาแต่พร่ำบ่นว่า สังคมมันเลวนะ บ้านเมืองมันทุกยุคแล้ว เรียกว่าเจอกันเมื่อไหร่ก็คุยกันแต่เรื่องนี้ ไม่ต้องพูดกันเรื่องอื่นเลย ตอนแรกๆเราอาจจะชอบที่ว่า เรื่องที่พูดนั้นมันเป็นความจริง ประกอบกับคนพูดสามารถใช้ถ้อยคำที่สละสลวย ตรงไปตรงมา จริงใจ ในแบบที่เรารู้สึก แต่เราพูดไม่ได้ แต่ถ้าเราจะต้องมานั่งฟังเรื่องนี้ทุกวัน ทุกชั่วโมง ทุกนาที ทุกวินาที ต่อให้เป็นความจริงแค่ไหนคนฟังมันก็เบื่อครับ เดอะ ดอร์ส จึงเป็นวงดนตรีที่เหมาะสำหรับบางยุค ที่พร้อมที่จะรับฟังดนตรีเช่นนี้ แต่เดอะ ดอร์ส เสนอความจริงที่ไม่ว่าจะเป็นยุคสมัยไหน ก็ต้องยอมรับเมื่อได้ฟังในสิ่งที่เขาพูด
จิม มอริสัน ก็เป็นเพียงแค่มนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง การมองสังคมด้วยจิตใจของเขาอาจจะกว้าง หรืออาจจะมองได้เท่ากับมนุษย์ที่มีความคิดเขามองกัน แต่เขาก็ไม่เคยรู้ว่า จุดออกในสิ่งที่เขานำเสนอคืออะไร เขายังมีความคิด ต้องการสร้างชื่อเสียง (อย่าบอกว่าไม่จริง ไม่ขออธิบายว่าทำไม แต่ผลงานบางชุดเขาเกร็งมากในการที่จะเสนอผลงานที่ตนต้องการ) จิม มอริสันเป็นคนมีรสนิยมดีมากนะครับในเรื่องการพักผ่อน โรงแรมที่เขาจะนอนอาศัยในแบบพักผ่อน รวมทั้งประกอบกามกิจ ต้องอยู่ในขั้นเดอลุกซ์ทีเดียว ทางออกต่อความหลอกลวงในสิ่งที่เขามองเห็นว่าสังคมเลวร้ายขนาดไหน เขาหนีมันโดยเข้ามาพึ่งสิ่งที่หลอกตนเอง ไม่ว่าจะเป็นยา ไม่ว่าจะเป็นเซ็กซ์ ซึ่ง จิม มอริสัน ประกาศตัวออกมาอย่างโจ่งแจ้งจากเพลง Light My Fire (The Doors LP) อยู่แล้ว
ผลงานชุดนี้ จิมตอกย้ำความคิดนั้นลงไปอีก (บอกกันแล้วในช่วงต้น) ในเพลง When The Music's Over ซึ่งจิมย้ำคำว่า The End อย่างเด่นชัดมาก (ถ้าต้องการเข้าใจคำว่า The End ที่จิมเสนอมา ภาพยนตร์เรื่อง Apocalyse Now ของ Francis Ford Coppola เอาความหมายของเพลงนี้ไปใช้ได้ตรงเป้าตรงประเด็นที่สุด และเมื่อเข้าใจแล้ว มาฟังเพลง When The Music's Over นี้ บางทีคุณจะเข้าใจในสิ่งที่ผมอธิบายมาทั้งหมดได้ เพราะถ้าจะให้พูดกันจริงๆ ในผลงานชุดนี้ จะยาวมาก เรื่องพวกนี้ไม่ต้องเข้าใจวันนี้ แต่สักวันเข้าใจ ก็ยังดีกว่าเข้าใจเพียงแค่ จิม มอริสัน เป็นเพียงตำนาน เพราะถ้าคุณรู้แต่ตำนาน โดยไม่พยายามสื่อสารกับตำนาน มันก็มีค่าเพียงแค่ คิดว่าเข้าใจเท่านั้น) การใช้คำพูดตอกย้ำอย่าง Music is you only friend until the end / until the end / until / the end หรือการใช้ถ้อยคำสั้นแต่ตรงตัวอย่างเช่น Before I sink / Into the big sleep / I want to hear / The scream of the Butterfly อย่างนี้ละครับ เขาถนัดนัก หาอ่านได้จากทุกเพลงที่เขาเขียน โดยเฉพาะ When The Music's Over นี้ สร้างประโยคอมตะขึ้นมาประโยคหนึ่งคือ "Alive" She Cried ซึ่งต่อมากลายเป็นชื่ออัลบั้มแสดงสดชุดล่าสุดของวง ออกปีที่แล้วครับ
รวมทั้งการตอกย้ำความคิดที่คล้ายกันในอัลบั้มเดียวกัน ชุดนี้ลองดูเพลง Strange Days และ People Are Strange เพียงแต่เขาเปลี่ยนคำว่า Days มาเป็น People พูดง่ายๆคือเขาเปลี่ยนรูปธรรมเป็นนามธรรมเท่านั้นเอง People Are Strange เป็นซิงเกิ้ลดังเพลงหนึ่งในชุดนี้ เนื้อเพลงก็ใช้ความหมายง่ายๆ เช่น ถ้าคุณเป็นคนแปลกหน้าในเมือง ที่ไม่มีใครรู้จักคุณ บางทีคุณอาจจะไม่รู้จักตัวคุณเองเลยว่าคุณนั้นชื่ออะไร ฟังเพลงนี้ทีไร นึกถึงหนังเรื่อง Midnight Cowboy ทุกที (ส่วนตัวไม่ชอบหนัง หนังสือชอบพอสมควร แต่ชอบเพลงนี้มากกว่า ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกันเลย แต่มีจุดร่วมคล้ายหรือตรงกัน)
พูดถึงอัลบั้มชุดนี้เพียงแค่บางจุดเท่านั้น เพราะถ้าพูดกันทุกแง่มุมบางทีคอลัมน์นี้อาจจะลงแผ่นนี้ได้เพียงแค่แผ่นเดียว ถ้าในโอกาสข้างหน้ามี เดอะ ดอร์ส อาจจะถูกนำกลับมาเขียนใหม่ ในชุดอื่น ในแง่มุมอื่น อย่างน้อยตอนนี้ก็ได้พยายามทำตามสัญญากันแล้วในการที่เอาวงนี้มาเขียน
แล้วบางทีอาจจะได้อธิบายลักษณะดนตรีแบบไซคีดีลิคให้เด่นชัดขึ้น ชุดนี้ก็ลองฟังเพลง Horse Latitudes กันไปพลางๆก่อน นี่ล่ะครับแบบไซคีดีลิคเต็มที่ร้อยเปอร์เซ็นต์ ถ้ามีโอกาสหาวงนี้มาฟัง เดอะ ดอร์ส ไม่น่าจะทำให้คุณผิดหวัง ทั้งแนวดนตรีที่เก่าแก่เกือบยี่สิบปี แต่ไม่ล้าสมัย และติดจะนำสมัยเกินยุคด้วยซ้ำ และถ้าสนใจมากกว่าทำนอง จิม มอริสัน ให้ความจริงที่เขารู้สึกเหมือนเราๆ แต่อย่าไปหวังหาทางออกเกี่ยวกับปัญหาอย่างเขา เพราะ The End มันก็เริ่มมาจากวันที่เราเกิดกันแล้ว แต่ในส่วนตัวอยากให้มันมาหาช้าๆ เพราะตอนนี้ภาระกิจส่วนตัวยังไม่เสร็จ
SP 197
SP 197
No comments:
Post a Comment